รู้สึกอย่างไรถ้าเราเจ็บเท้า แพะก็เช่นเดียวกัน

กีบเท้าที่ผิดรูปหรืองอกยาวเกินจะทำให้ แพะกินอยู่ไม่เป็นปกติสุข มีผลกระทบต่อผลผลิต หรือมิฉะนั้นจะเกิดเป็นหนองที่ฝ่าเท้า แพะจะล้มป่วยในที่สุด การตัดแต่งกีบเท้าจึงเป็นเรื่องสำคัญในการดูแลแพะ ซึ่งจะต้องทำเป็นประจำทุก 2-3 เดือน

โครงสร้างของกีบเท้า เมื่อหงายฝ่าเท้าแพะขึ้นดู จะมีส่วนสำคัญ ดังนี้

 

  • 1 ปลายกีบเท้า–toe
  • 2 ผนังกีบเท้า–wall เป็นส่วนที่แพะใช้รับน้ำหนัก
  • 4-5 ฝ่าเท้า–sole
  • 6 ส้นเท้า–heel

        กีบเท้าที่ผิดปกติจะเริ่มจากผนังกีบเท้างอกเกิน แต่เนื่องจากผนังกีบเท้าจะมีความหนาและเหนียวจึงมักไม่สึกกร่อนเอง แต่จะพับเข้าด้านใน สะสมสิ่งสกปรก และจะทำให้ผนังกีบเท้างอกผิดปกติต่อเนื่อง จนทำให้กีบเท้าเสียรูป

     

    เมื่อมองดูจากด้านข้าง กีบเท้าที่ปกติถูกต้อง จะมีทรงสี่เหลี่ยมด้านขนาน ซึ่งด้านที่วางราบกับพื้นจะต้องขนานกับแนวผิวหนัง และความกว้างของกีบเท้าจะมีขนาดโดยประมาณเท่ากับข้อเท้า

     

    ขั้นตอนการตัดกีบเท้า

    • จับแพะนอนตะแคง หรือยืนหงายฝ่าเท้าขึ้นก็ได้ถ้าแพะเชื่อง
    • ใช้คีมสำหรับตัดกีบเท้า หรือคีมตัดแต่งกิ่งไม้ก็ใช้็ได้ โดยให้ขูดสิ่งสกปรกออกจากฝ่าเท้าเสียก่อน ให้เห็นแนวผนังกีบเท้า
    • ใช้คีมตัดผนังกีบเท้าออกทีละน้อย จนกระทั่งแนวจากส้นเท้าถึงปลายกีบเท้าได้ระดับขนานกับแนวรอยต่อผิวหนัง
    • หากพบว่าฝ่าเท้าเริ่มมีสีชมพู ให้หยุดทันทีอย่าตัดลึกเกินกว่าระดับนี้เพราะแสดงว่าถึงระดับที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง
    • จากนั้นให้ตัดแต่งฝ่าเท้าให้เรียบเสมอแนวผนังกีบเท้า เสร็จแล้วให้ตัดกีบอีกอันที่คู่กัน โดยกีบทั้งคู่ต้องเสมอเหมือนกัน
    • ทำเช่นนี้จนครบทั้งสี่เท้า

     

    ปลายเท้าจะงอกเร็วกว่าส้นเท้า ดังนั้นบางคนที่ไม่เข้าใจอาจตัดแต่งผิด ทำให้ส้นเท้าเตี้ยกว่าปลายเท้า ซึ่งจะทำให้ข้อเท้าผิดปกติ

    จำไว้ว่า ผนังกีบเท้าจะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักตัวแพะ ไม่ใช่ฝ่าเท้า ดังนั้นแนวผนังกีบเท้าที่ถูกต้องจะต้องอยู่ในระนาบขนานตรง

     

    สำหรับกีบเท้าที่ไม่เคยตัดแต่งมาเป็นเวลานาน อาจบิดเบี้ยวเสียรูปไปแล้ว การตัดแต่งเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่เข้าที่เพราะจะถึงระดับที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงเสียก่อน จะต้องทำการตัดแต่งต่อเนื่องไปอีกหลายครั้งหลายเดือน จนกว่ากีบจะเข้ารูปที่ถูกต้อง