พืชพรรณตามธรรมชาติมีพิษอยู่ในตัว การที่แพะไปกินพืชพิษจะทำให้เกษตรกรอาจประสบความเสียหายได้

เนื่องจากมักมีสภาพจำกัด เช่น แปลงพืชขาดความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่เลี้ยงจำกัด หรือ การเลี้ยงในคอกที่กักขัง แพะไม่มีโอกาสเลือกกินโดยอิสระ รวมทั้งการที่เกษตรกรที่ขาดความรู้อาจตัดนำมาให้สัตว์กิน จึงต้องมีความรู้ในการเลือกใช้พืชอาหารสัตว์ในการเลี้ยงแพะ ซึ่งต้องคำนึงถึง คุณค่าทางอาหาร, ความน่ากิน และ สารพิษหรือสารต้านคุณค่าทางอาหารอีกด้วย

ในความเป็นจริงแล้วมีพืชพิษน้อยชนิดมากที่จะทำให้สัตว์เจ็บป่วยทันทีทันใด พิษจะทำให้สัตว์จำกัดการกินพืชชนิดนั้นได้เอง พืชที่มีความเข้มข้นของพิษสูงจะทำให้พืชนั้นไม่น่ากิน สัตว์จะหยุดกินพืชชนิดนั้นและไปกินพืชชนิดอื่น โดยผ่านกระบวนการยับยั้งทางสรีระของสัตว์เอง พิษไม่ได้เป็นเหตุให้พืชชนิดนั้นไม่น่ากิน ความน่ากินของพืชนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย
ปัจจัยเกี่ยวกับตัวสัตว์ ได้แก่ 1) ประสาทสัมผัส 2) ชนิดและพันธุ์สัตว์ 3) ความแตกต่างกันของสัตว์แต่ละตัว 4) ประสบการณ์ก่อนหน้า และ 5) สภาพทางสรีระ
ปัจจัยเกี่ยวกับพืชได้แก่ 1) ชนิดของพืช 2) ความผันแปรของพืชชนิดเดียวกัน 3) องค์ประกอบทางเคมี 4) รูปพรรณและลักษณะทางกายภาพของพืช และ 5) ความอวบน้ำ ความเจริญตัว
สัตว์ที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีในสภาพแวดล้อมที่คุ้นชินมักจะไม่พบว่ามีการกินพืชพิษมากจนเกินไป สัตว์มักจะกินพืชพิษที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแต่มีสารพิษในความเข้มข้นต่ำ น้อยครั้งที่จะพบว่าสัตว์จะกินพืชพิษที่มีสารพิษปริมาณมากหรือกินพืชที่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางอาหาร เว้นแต่เมื่อสัตว์อยู่ในสภาพไม่มีอะไรจะกิน ก็จะเป็นการบีบบังคับให้กินพืชที่มีพิษมากได้ มักพบว่าสัตว์ที่หิวโหยมักจะกินพืชพิษมากจนถึงตายได้มากกว่าที่จะพบว่าสัตว์ต้องอดตายเพราะไม่ยอมกินพืชพิษ

การกินพืชที่มีคุณค่าทางอาหารแต่มีพิษสูงจะมีลักษณะเป็นวงจร สัตว์จะเพิ่มการกินพืชพิษขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายวัน เมื่อใกล้ที่จะเกินกว่าระดับที่จะรับได้ สัตว์จะลดการกินพืชพิษนั้นลงช่วงหนึ่ง แล้วก็จะกินเพิ่มขึ้นอีกสลับกันไปเป็นวงจร

พังแหร

 

ชื่อท้องถิ่น พังแหร, ปะดัง, ปอแหก, ตะคาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trema spp. อยู่ในวงศ์ Ulmaceae พืชในสกุลนี้ มีหลายชนิดที่มีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกัน แยกชนิดออกได้ยาก
ชื่อสามัญ Pigeon wood (อังกฤษ), Peach-leaf poison bush (ออสเตรเลีย)
ความน่ากิน โดยปกติแล้วสัตว์จะไม่ชอบกิน แต่อาจผันแปรไปเนื่องจากปัจจัยอื่น เช่น เลี้ยงขังคอก ขาดอาหารหยาบ เลี้ยงหนาแน่น
ความเป็นพิษต่อสัตว์อื่น แพะ มีความเสี่ยงสูง รองลงไปคือ แกะ, โค, ม้า
พิษออกฤทธิ์ Trematoxin glycocides (อาจเป็นพวก cyanogenetic)
อาการป่วย ไม่กินอาหาร ตัวสั่น กระตุก ลำไส้อักเสบ ตื่นเต้น ไม่รู้สึกตัว ตาย
ความสำคัญ พิษทำอันตรายต่อตับ ส่วนมากสัตว์จะตาย สัตว์ที่ฟื้นตัวอาจไม่มีผลผลิตนานหลายเดือน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 4-12 เมตร กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ใบเดี่ยวรูปไข่ แกมรูปใบหอก ใบกว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-12 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบไม่สมมาตร ขอบใบจักแบบฟันเลื่อยละเอียด ผิวใบสีเขียวเข้ม มีขนขนานกับผิวใบ ถ้าลูบจากปลายใบมาหาโคนใบจะรู้สึกฝืด ใบวางตัวเรียงสลับกันบนกิ่ง แนวกิ่งห้อยลง ดอกสีนวลแกมเขียว ขนาดเล็กออกเป็นช่อสั้น ๆ เป็นกระจุกที่ซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกย่อยมีกลีบรวม 5 กลีบ ผลลักษณะกลม ขนาด 1-2 มม. เมื่อสุกมีสีดำ มีเมล็ดเดียว
แหล่งที่พบ พบกระจายในเขตร้อนชื้นของอัฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ชอบขึ้นตามที่โล่ง และตามชายป่าดงดิบ

 

รายงานโรค

กรณีสัตว์ป่วยนี้เกิดจากการกินใบพังแหร ซึ่งเป็นพืชพิษที่เคยมีการรายงานการเกิดพิษในหลายประเทศและในบ้านเรา โดยเกษตรกรได้ตัดนำมาให้แพะกินอยู่เป็นระยะร่วมกับพืชอาหารสัตว์ชนิดอื่น สัตว์มีอาการป่วยเฉียบพลันและตาย จากการตรวจซากมีการเปลี่ยนแปลงสีที่ตับ

    มีรายงานสัตว์ป่วยจากการเป็นพิษโดยที่สัตว์กินพืชในสกุลนี้หลายชนิด
  • Trema micrantha ในบราซิล เป็นไม้ที่นำมาใช้ในการฟื้นฟูป่า เมื่อนำมาทดลองในหนู พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดและแก้อาการอักเสบ ใบนำมาใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาโรคผิวหนัง ซิฟิลิส และรูมาติซั่ม เมื่อนำใบสดมาให้แพะกินในขนาด 30 กรัมต่อน้ำหนักตัวแพะ 1 กก. พบว่าแพะตายใน 3 วันถัดมา เมื่อตรวจซากพบว่ามีวิการเนื้อตายที่ตับ (hepatic necrosis)
  • Trema tomentosa ก็ทำให้เกิดโรคในลักษณะที่คล้ายคลึงกันใน อูฐ, โค, แกะ, แพะ, ม้า และกวาง ในบราซิล พบว่าแพะ 7 ตัว จาก 42 ตัว แสดงอาการซึม ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ใน 48 ชม. แพะที่แสดงอาการป่วยก็ตาย พบวิการเนื้อตายที่ตับในรูปแบบต่าง ๆ (hepatocellular necrosis) แพะดังกล่าวถูกเลี้ยงในแปลงหญ้าซึ่งมีต้นไม้ชนิดนี้โค่นล้มอยู่ และเกษตรกรพบว่าแพะดังกล่าวได้กินใบจากต้นดังกล่าว ใบไม้มีความน่ากินโดยแพะและกระต่ายสามารถกินใบได้เอง การขาดแคลนพืชอาหารสัตว์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการกินพืชพิษชนิดนี้มากขึ้นได้
  • Trema aspera (poison peach) เป็นพืชพิษที่มีผู้รายงานการเป็นพิษไว้ในออสเตรเลีย มีคำแนะนำให้ผู้เลี้ยงใช้ความระมัดระวัง ทำการกำจัดพืชชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเลี้ยงแพะในลักษณะกำจัดวัชพืช โดยที่สารพิษจากต้นพังแหรนี้ยังไม่มีการค้นคว้าวิจัยที่แน่ชัด แต่คาดว่าจะเป็นสาร glycocides ที่สามารถให้สาร cyanide
  • Trema orientalis (L.) Blume ในอัฟริกานำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกป่า ปลูกเป็นร่มเงาสำหรับต้นกาแฟ และนำใบมาใช้เลี้ยงสัตว์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าลักษณะของการเกิดพิษมีความไม่แน่นอนขึ้นกับชนิดต้นไม้ สภาพพื้นที่ และฤดูกาล ซึ่งทำให้การเลือกกินมีความแตกต่างกันอีกด้วย อย่างไรก็ตามผลของฤดูกาลและสิ่งแวดล้อมทำให้การเป็นพิษลดลงหรือไม่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์

โดยปกติการที่แพะจะกินพืชชนิดนี้เองจำนวนมากในธรรมชาติจะมีโอกาสน้อย เนื่องจากต้นไม้จะมีความสูงที่แพะจะกินไม่ถึง ยกเว้นแต่ในกรณีต้นโค่นล้ม หรือเกษตรกรเจาะจงตัดมาให้กินที่คอกเนื่องจากพืชพิษชนิดนี้มีกิ่งอ่อนเปราะ ตัดง่าย มีความน่ากิน และมีคุณค่าทางอาหาร (แต่ก็มีสารพิษ) ในการทดลองตัดให้แพะซึ่งไม่เคยกินพืชชนิดนี้มาก่อน พบว่าแพะเลี้ยงขังคอกสามารถกินเองได้ดี แสดงว่าพืชมีความน่ากินและน่าจะมีคุณค่าทางอาหารอยู่ สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นราธิวาส ซึ่งปรากฏว่าใบพังแหรมีคุณค่าทางอาหาร ดังนี้

  • นน.สด 808.61, นน.แห้ง 203.16, %วัตถุแห้ง 93.53
  • % on dry basis
    • CP 14.13
    • Fat 1.78
    • CF 20.42
    • Ash 9.83
    • NFE 47.37
    • ADF 30.17
    • NDF 38.41
    • Lignin 7.71

ดังนั้น เมื่อเกษตรกรทดลองนำใบพังแหรมาเลี้ยงสัตว์ ในระยะแรกจะพบว่าแพะสามารถกินได้เป็นอย่างดี จึงอาจนำมาให้เป็นระยะ หรือเป็นประจำ หรือเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนกระทั่งเกินกว่าที่ร่างกายแพะจะขับพิษออก พิษที่สะสมอยู่ทำอันตรายต่อตับและแสดงอาการป่วยจนถึงตายในที่สุด ทั้งนี้ในกรณีนี้เป็นแพะที่เลี้ยงแบบขังคอกมีความจำกัดของพืชอาหารสัตว์ที่เกษตรกรใช้ จึงมีโอกาสเป็นพิษขึ้นได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงไม่นำใบพังแหรมาใช้เลี้ยงแพะจะปลอดภัยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

    1. Traverso SD., Zlotowski P., Germer M., Cruz C.E.F. and Driemier D.2005 Spontaneous poisoning by Trema micrantha (Ulmaceae) Acta Scientiae Veterinariae.33:207-210. Retrieved from http://www/ufrgs.br/favet/revista.
    2. Provenza D.F. 1995. Postingestive feedback as an elementary determinant of food preference and intake in ruminants. J of Range Management 48(1)2-17.
    3. Simmonds H., Holst P. and Bourke C. 2000. The palatability and potential toxicity of Australian weeds to goats. Rural Industries and Development Corporation. Australia. Retrieved from http://www.mla.com.au/CustomControls/PaymentGateway/ViewFile.
    4. Pfister A.J. 1999. Behavioral strategies for coping with poisonous plants. Presented in : Grazing Behavior of Livestock and Wildlife. Idaho Forest, Wildlife & Range Exp. Sta. Bull #70. Retrieved from http://www.cnrhome.uidaho.edu/range/publications/pfister.pdf .
    5. Murl Bailey Jr. E. 1978. Physiologic responses of livestock to toxic plants. J of Range Management 31(5): 343-347.
    6. Provenza D.F., Pfister A.J. and Cheney D.C. 1992. Mechanisms of learning in diet selection with reference to phytotoxicosis in herbivores. J of Range Management 45:36-45.
    7. Majak W. 2001. Review of toxic glycosides in rangeland and pasture forages. J of Range Management 54:494-498.
    8. Launchbaugh K.L., Provenza F.D. and Pfister J.A. 2001. Herbivore response to anti-quality factors in forages. J of Range Management 54:431-440.

 


 

เจ้าของ: สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ซ.5 ถ.เจริญประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทร.073-335996
email no.: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it..
ปรับปรุงครั้งสุดท้าย: 8 กพ. 2554
ผู้เขียน : นายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา
© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2554 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
ลิขสิทธิ์สงวนเฉพาะการทำซ้ำเพื่อการแสวงหาผลกำไร โปรดอ้างอิงผู้เขียนหากมีการนำไปเผยแพร่ต่อ