เมื่อแพะท้องเสีย หรือกระเพาะเป็นกรด ทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง

จำเป็นจะต้องให้สารน้ำเพื่อแก้ไข มิฉะนั้น ร่างกายจะไม่คืนสภาพ และมักจะเจ็บป่วยจนถึงตายได้ง่าย การให้สารน้ำเป็นวิธีประคับประคองอาการให้สัตว์แข็งแรงพอที่จะมีชีวิตอยู่ และแก้ไขต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย การให้สารน้ำทางปากเป็นเทคนิควิธีที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีในสภาพพื้นที่ ถ้ามีการฝึกฝนจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อใดที่พบว่าแพะมีสภาพการขาดสารน้ำ

    เราสามารถตรวจพบและประเมินสภาพร่างกายขาดน้ำได้ ดังนี้
  • ขาดน้ำเล็กน้อย (6-8%) ลูกตาจมลงในเบ้าตา ดึงผิวหนังแล้วจะค้างอยู่ ใช้เวลา 2-4 วินาที จึงคืนสภาพเดิม เยื่อเมือกชื้น
  • ขาดน้ำปานกลาง (8-10%) ลูกตาจมลงอย่างชัดเจน ดึงผิวหนังแล้วจะค้างอยู่ ใช้เวลา 4-8 วินาที จึงคืนสภาพเดิม เยื่อเมือกแห้ง
  • ขาดน้ำรุนแรง (10-12%) ลูกตาจมลงในเบ้าตาอย่างรุนแรง ดึงผิวหนังแล้วจะค้างอยู่ ไม่คืนสภาพเดิม เยื่อเมือกแห้ง

ปริมาณสารน้ำที่ร่างกายแพะต้องการ

โดยปกติแล้วสัตว์แทบทุกชนิดต้องการน้ำราว 40-50 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน และขึ้นกับสภาพภูมิอากาศด้วย แต่อาจจะต้องการมากกว่านี้เป็นเท่าตัวขึ้นกับสภาพการสูญเสียน้ำจากการเจ็บป่วย จึงต้องให้สารน้ำในปริมาณพื้นฐานเป็นอย่างน้อย บวกกับปริมาณที่อาจต้องให้เพิ่มเติมจากการประเมินสภาพร่างกายดังกล่าวข้างต้น
สำหรับ อาการท้องเสียนั้น จะใช้การประมาณว่าต้องให้สารน้ำเพิ่มอีก 200 ซีซี ต่อมูล 1 กก. ต่อวัน เช่น ถ้าแพะตัวหนึ่งหนัก 20 กก. ท้องเสีย โดยพบว่ามีปริมาณมูลเหลว 1 กก. ก็จะต้องให้สารน้ำ 1 ลิตร (50X20) + 200 ซีซี = 1,200 ซีซี ต่อตัวต่อวัน เป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ เมื่อให้สารน้ำแล้ว ต้องติดตามอาการตอบสนองโดยการตรวจสภาพร่างกายขาดน้ำ โดยจะต้องให้ซ้ำ หรือเพิ่มปริมาณ ถ้าพบว่าภายใน 6 ชม. ยังไม่มีสภาพการขาดน้ำที่ดีขึ้นเพียงพอ

การเตรียมสารน้ำสำหรับการป้อนทางปาก (oral fluids)

โดยหลักการแล้ว โดยมากในสัตว์กระเพาะรวม (โค, กระบือ, แพะ และ แกะ) ที่พบสภาพขาดน้ำ น้อยครั้งที่จะพบสภาวะการไหลเวียนในร่างกายที่เป็นกรด (metabolic acidosis) แตกต่างจากในสัตว์กระเพาะเดี่ยวหรือสัตว์กระเพาะรวมที่อายุน้อย ยกเว้นในกรณีพิเศษ เช่น การเจ็บป่วยจากการให้อาหารข้นที่มากเกิน (grain overload) และในบางโรคที่พบน้อย (กระเพาะลำไส้บิดตัว, น้ำลายไหลมากเกิน) ซึ่งจะพบสภาวะเป็นกรด ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะพบสภาวะการไหลเวียนในร่างกายที่เป็นด่าง (metabolic alkalosis) เราจึงไม่ให้สารน้ำที่มีฤทธิ์เป็นด่างซ้ำเติม (ได้แก่ สารน้ำที่มีองค์ประกอบของ bicarbonate, acetate, propionate) ยิ่งไปกว่านั้น เราจะไม่แก้ไขสภาพความเป็นด่างโดยให้สารน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด แต่จะใช้วิธีการทำให้ประจุนอกเซลมีความเป็นประจุบวกเกินกว่าประจุลบ ในทางปฏิบัติจึงให้สารน้ำที่มีปริมาณคลอไรด์, โปแตสเซียม เตรียมสารน้ำได้ดังนี้

  • เกลือแกง 140 กรัม
  • โปแตสเซียมคลอไรด์ 25 กรัม
  • แคลเซียมคลอไรด์ 10 กรัม
  • เติมน้ำอุ่นจนครบ 20 ลิตร (5 แกลลอน)
    ในพื้นที่ หากพบกรณีแพะโตเต็มวัยท้องเสีย ให้ใช้สูตรอย่างง่าย ดังนี้
  • เกลือแกง 2 ช้อนชา
  • กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
  • ผงกาแฟ 2 ช้อนชา
  • เติมน้ำอุ่นจนครบ 2.5 ลิตร
    ในกรณีที่พบสาเหตุพิเศษที่มีสภาพความเป็นกรดมากเกิน หรือในกรณีลูกแพะท้องเสีย จะใช้สูตรอย่างง่าย เพิ่มผงฟู ดังนี้
  • เกลือแกง 2 ช้อนชา
  • กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
  • ผงกาแฟ 2 ช้อนชา
  • ผงฟูทำขนมปัง (โซเดียมไบคาร์บอเนต) 2 ช้อนชา
  • เติมน้ำอุ่นจนครบ 2.5 ลิตร

โดยปกติแล้วแพะขนาด 45 กก. จะกินน้ำ 3.6 ลิตร ต่อวัน ขึ้นกับสภาพอากาศ และสภาพร่างกายขาดน้ำ ดังนั้น เพื่อให้จำง่าย อาจใช้การเทียบกับเกณฑ์ดังกล่าวเป็นอย่างน้อย โดยแบ่งออกเป็น 2 มื้อ เช้า–เย็น

วิธีการสอดท่อ

  1. ใช้ท่อสำหรับสอดเข้ากระเพาะอาหารแบบที่ใช้ในโรงพยาบาล ขนาด เบอร์ 18 (disposable stomach tube, Levine type, CH/FR 18) เจลหล่อลื่น, กรวยพลาสติก, ขวดเตรียมสารน้ำ
  2. ให้ใช้สายยางวัดความยาวจากปากไป ตามแนวลำคอ ถึงแนวข้อศอกขาหน้า เป็นความยาวโดยประมาณของท่อที่เราจะใช้สอดลึก โดยทั่วไปแพะโตเต็มวัยจะสอดลึกประมาณ 65 ซม. ซึ่งที่ท่อสอดจะมีขีดบอกระดับ
  3. การสอดท่อใช้แนวทางคล้ายกันกับการใช้อุปกรณ์ป้อนยาน้ำ แต่ให้รวบปากไว้อย่างมั่นคงเพียงพอ ไม่ให้แพะขยับปากเคี้ยวสายยางได้
  4. ใช้เจลหล่อลื่นทาที่ปลายท่อสายยาง
  5. สอดท่อลึกลงไปที่คอหอย เมื่อปลายท่อสะดุดชนตรงบริเวณลูกกระเดือก ซี่งเป็นปากทางเข้าหลอดลม-หลอดอาหาร ให้ดันสายยางเดินหน้าถอยหลัง เบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้แพะกลืนสายยาง ให้สังเกตดูที่บริเวณลำคอของแพะ เมื่อดันสายยางผ่านเข้าลงในหลอดอาหาร จะเห็นแนวท่อที่เราดันเลื่อนลงในหลอดอาหารอย่างชัดเจน ขณะที่ถ้าบังเอิญเราดันสายยางลงไปในหลอดลม จะไม่เห็นแนวท่อดังกล่าว ซึ่งการดันท่อลงในหลอดลมจะเกิดขึ้นได้ยากมากเนื่องจากมีฝาปิดกล่องเสียงคอยปิดหลอดลมอยู่
  6. เมื่อได้ระดับความลึกแล้ว ให้หยุดสอดท่อ ใช้มือรวบปากให้แน่น แล้วให้ทดสอบว่าสายยางเข้าในหลอดอาหารถูกต้องหรือไม่ ดังนี้
    • ฟังเสียงที่ปลายท่อด้านนอก จะได้ยินเสียงโครกคราก เกิดจากน้ำในกระเพาะถูกกระเพาะดันไหลเข้ามาในท่อ แสดงว่าท่อเข้าในหลอดอาหารถูกต้องแล้ว
    • ทดลองให้สารน้ำ 1-2 ซีซี หากพบว่าแพะมีอาการสำลัก หรือ ไอ จาม แสดงว่าท่อเข้าในหลอดลม แสดงว่าการสอดท่อไม่ถูกต้อง ให้ดึงสายยางออก แล้วทำการสอดใหม่
  7. สวมปลายท่อเข้ากับกรวยพลาสติก ทดลองให้สารน้ำ 1-2 ซีซี ถ้าไม่มีอาการใด ๆ ให้เทสารน้ำที่ได้เตรียมไว้ลงในกรวย
  8. เสร็จแล้วดึงสายยางออก ในตอนแรกให้ดึงสายยางออกช้า ๆ เพื่อให้สารน้ำไหลออกจากสายยางให้หมด ช่วงที่สายยางผ่านคอหอยให้ดึงออกด้วยความรวดเร็ว
  9. ท่อสายยาง นำมาล้างน้ำเปล่า ปล่อยให้แห้ง สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

การสอดท่อในลูกแพะจะทำได้ยากกว่าแพะที่โตเต็มวัย เนื่องจากจะต้องเปลี่ยนไปใช้ท่อที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งจะมีความอ่อนตัว แต่ถ้าได้ฝึกฝนแล้ว จะทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับในแพะโตเต็มวัย