เมื่อให้อาหารข้นมากเกินไป มีโอกาสมากที่จะทำให้เกิดสภาพอาหารไม่ย่อย

หรือ หากให้เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องก็จะเกิดสภาวะเป็นกรดในกระเพาะทำให้แพะเจ็บป่วยถึงตายได้

สาเหตุ

    เกิดจากการให้อาหารข้นจำพวกแป้งน้ำตาล หรืออาหารข้นสำเร็จรูปที่มากเกินไป หรือโดยให้อาหารหยาบที่สับย่อยละเอียดเกินไป
  • กระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีสภาพเป็นถุงหมักอาหาร มีแบคทีเรียและจุลชีพหลายชนิดทำหน้าที่ย่อยอาหาร คาร์โบไฮเดรทจากอาหารแพะเป็นแหล่งอาหารหลักของจุลชีพ แบ่งได้ 2 ประเภท 1) คารฺ์โบไฮเดรทที่ละลายอยู่ภายในเซลพืช (ได้แก่ พวกแป้ง และน้ำตาล) และ 2) คาร์โบไฮเดรทจากผนังเซลพืช (ได้แก่ pectin, cellulose, hemicellulose และ lignin) จุลชีพทั้งหลายจะย่อยคาร์โบไฮเดรทกลายเป็นกรดไขมัน เป็นแหล่งพลังงานของร่างกายแพะ
  • จุลชีพต่างชนิดกันย่อยคาร์โบไฮเดรทแต่ละประเภท และจุลชีพจะอยู่ได้ในเฉพาะช่วงความเป็นกรดด่างที่เหมาะสมเฉพาะตนเท่านั้น เช่น แบคทีเรียที่ย่อยแป้งและน้ำตาลจะอยู่ได้ดีในช่วงเป็นกรด (pH 5.5–6.0) ในขณะที่แบคทีเรียที่ย่อยเยื่อใย (fiber) จะอยู่ได้ดีในช่วงค่อนข้างเป็นกลาง (pH 6.0-6.8)
  • ชนิดของอาหารมีผลต่อความเป็นกรดด่างภายในกระเพาะ คาร์โบไฮเดรทในอาหารหยาบจะย่อยได้ช้ากว่าคาร์โบไฮเดรทในอาหารข้นจำพวกเมล็ดธัญพืช (ข้าวเปลือก, ข้าวโพด ฯลฯ) ตลอดจนพืชที่ให้แป้งโดยตรง (หัวมัน, สาคู ฯลฯ) ดังนั้น สภาพเป็นกรดจากการกินอาหารหยาบจึงเกิดได้ยาก แตกต่างจากแป้งในอาหารข้นซึ่งจะหมักและทำให้เกิดกรดได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งในอาหารข้นมีเยื่อใยน้อยแพะจึงไม่หลั่งน้ำลายปริมาณมาก สภาพเป็นกรด (pH ลดลง) ทำให้แบคทีเรียที่ย่อยอาหารหยาบทนอยู่ไม่ได้ เปิดทางสะดวกให้แก่แบคทีเรียที่ผลิตกรดแลคติค เพิ่มจำนวนได้รวดเร็วกว่าและเพิ่มกรดมากขึ้นไปอีก
  • อาหารหยาบจะกระตุ้นการหลั่งของน้ำลายซึ่งมีสารไบคาร์บอเนทอยู่ ทำให้สามารถปรับลดความเป็นกรดของกระเพาะ การที่เยื่อใยสั้นก็ใช้เวลาเคี้ยวเอื้องน้อยลง ทำให้น้ำลายหลั่งออกน้อยลงด้วย อาหารหยาบสับย่อยที่มีขนาดสั้นกว่า 2-3 นิ้ว จะทำให้เกิดกรดได้ดี เนื่องจากอาหารหยาบที่สั้นเกินไปจะผ่านกระเพาะหมักอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดสภาพคล้ายคลึงกันคือ แบคทีเรียย่อยเยื่อใยลดจำนวนลงและแบคทีเรียย่อยแป้งเพิ่มจำนวน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติค)
  • นอกจากนั้น การเติมไขมันลงในอาหารก็มีผลทำให้เกิดกรดในกระเพาะเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นไขมันและน้ำมันบางชนิดจะลดการย่อยได้ของเยื่อใยโดยทำลายแบคทีเรียที่ย่อยเยื่อใย หรือโดยการเคลือบเยื่อใยไว้

อาการป่วย

  • รายที่รุนแรงน้อย การกินอาหารข้นที่มากไปบ้างสามารถทำให้เกิดสภาพไม่กินอาหาร กระเพาะหมักลดการเคลื่อนไหวลงแต่ไม่ถึงกับหยุดทำงาน แพะจะกัดฟันกรอด อาจมีอาการท้องเสีย แพะหยุดกินอาหาร 1-2 วัน อาจทำให้ความเป็นกรดกลับสู่สภาพปกติได้ การให้หญ้าแห้ง และวิตามินบี ก็เป็นการเพียงพอ
  • รายที่รุนแรงมาก จะเกิดสภาวะเป็นกรดทั่วร่างกายและถึงตาย กระเพาะหมักหยุดทำงาน อาหารในกระเพาะจะอัดแน่น อาจเกิดสภาพท้องอืดแบบปานกลาง (แสดงอาการแบบท้องอืด แต่จะไม่มีลมในกระเพาะ หรือเกษตรกรอาจเข้าใจผิดไปว่าแพะกินสารพิษ) ท้องผูกตามด้วยท้องเสีย กล้ามเนื้อสั่น กัดฟันกรอด เป่าปาก หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ เกิดสภาพขาดน้ำ (ควงตาจมลึก, ผิวหนังไม่ยืดหยุ่น) ซึ่งเกิดจากอาหารในกระเพาะมีความเข้มข้นขึ้น (hyperosmotic) และดึงสารน้ำออกจากระบบไหลเวียนเข้าไปในกระเพาะหมัก ปัสสาวะเป็นกรด เลือดมี pH ลดลง สารไบคาร์บอเนทลดลง บางตัวจะตายภายใน 24 ชม. นับแต่สังเกตพบอาการผิดปกติ รายที่รุนแรงน้อยกว่าจะตายใน 24-72 ชม.ถัดมา

การตรวจ

    ต้องสงสัยสภาวะเป็นกรดในกระเพาะเมื่อพบว่าแพะซึม ไม่กินอาหาร มีอาการเหมือนอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืด และมีประวัติว่าให้กินอาหารข้นปริมาณมากเป็นเวลานาน
  • ตรวจสารน้ำในกระเพาะโดยการสวนสายยางให้อาหาร หากพบว่า pH ลดลงถึงระดับ pH 5.0 จะถือว่าเป็นการยืนยันโรคนี้ แต่หากพบ pH 5.5-7.0 ซึ่งเป็นช่วงปกติก็ไม่สามารถตัดโรคนี้ออกไปได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ทำให้สารน้ำในกระเพาะมี pH เพิ่มขึ้น ถ้าแพะอยู่รอดได้นานพอ
  • ย้อมสีแกรมจากสารน้ำกระเพาะหมัก จะพบจุลชีพติดสี gram–positive จำนวนมาก และหากเกิดสภาวะเป็นกรดรุนแรงจะพบว่าเชื้อโปรโตซัวในกระเพาะตายหมด
  • สภาวะเป็นกรดในกระเพาะมีความแตกต่างจากไข้น้ำนม โดยโรคไข้น้ำนมแพะจะล้มนอนแต่จะไม่มีสภาพขาดน้ำหรือท้องเสีย ตอบสนองอย่างรวดเร็วโดยการให้สารน้ำแคลเซียม เมื่อตรวจซากจะพบปริมาณอาหารข้นแน่นในกระเพาะ ผนังกระเพาะอาหารอักเสบ และ เยื่อบุช่องท้องอักเสบแบบเฉพาะที่ และพบสภาพขาดน้ำ (ดวงตาจมลึกในเบ้าตา)

 

การรักษา

  • ช่วงเริ่มต้นอาจให้ยาลดกรด ยับยั้งการเจริญตัวของแบคทีเรีย (sodium bicarbonate 20 กรัม และ tetracycline 0.5-1 กรัม ป้อนให้กิน) งดอาหารข้น และปล่อยให้กินอาหารหยาบ
  • ทำการประมาณความพร่องด่างของตัวแพะ ใช้สูตรการประมาณ คือ ปริมาณ milliequivalent bicarbonate = 0.3x น้ำหนักตัวเป็น กก. โดยที่ ปริมาณ sodium bicarbonate 1 กรัม.จะให้ 12 mEq bicarbonate แพะที่เกิดสภาพขาดน้ำจะสามารถให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำได้ 3-5 ลิตร หรือมากกว่านั้น แพะหนัก 50 กก.ที่มีสภาวะเป็นกรดแบบปานกลาง (สภาพพร่องด่างเท่ากับ 12) จะต้องเติม sodium bicarbonate 15 กรัม
  • ให้วิตามินบี ฉีดเข้าทางใต้ผิวหนัง (thiamine 300–500 มิลลิกรัม วันละหลายครั้ง) ไม่จำเป็นต้องให้กลูโคส และห้ามให้ lactated Ringer’s solution
  • ให้สารน้ำจากกระเพาะหมักจากโค แกะ หรือ แพะที่มีสุขภาพดี เก็บจากโรงฆ่าหรือท่อสายยางให้อาหารจะช่วยในการปรับสภาพจุลชีพในกระเพาะหมักให้เป็นปกติโดยเร็ว

การป้องกัน

  • แพะเนื้อ เมื่อเสริมด้วยอาหารข้นสำเร็จรูป ให้อาหารข้นในอัตรา ไม่เกิน 1% ของน้ำหนักตัวต่อวัน (เช่น ถ้าแพะหนัก 20 กก. ก็ให้อาหารข้นเสริมได้ไม่เกิน 200 กรัมต่อวัน) หา่กอาหารหยาบมีความสมบูรณ์ดีแล้ว (ดูจากคะแนนสภาพร่างกาย) ก็ไม่จำเป็นต้องให้อาหารข้นเสริม
  • แบ่งอาหารข้นออกเป็น 2-3 มื้อต่อวัน
  • อย่าให้อาหารข้นแบบตั้งทิ้งไว้ตลอดเวลาหรือสับบดละเอียด ดังเช่นที่พบในกรณีตัวอย่างสัตว์ป่วยนี้ซึ่งเกษตรกรให้ลำต้นสาคูขูดผสมกับรำตั้งทิ้งไว้ให้กินตลอดเวลา
  • ปรับปริมาณอาหารข้นที่มีแป้งมากให้มีปริมาณเหมาะสม
  • ให้อาหารหยาบก่อนที่จะให้อาหารข้น
  • ลดผลกระทบจากสภาพเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสภาวะเป็นกรดในกระเพาะ อาจให้ sodium bicarbonate หรือ calcium carbonate ผสมลงในอาหารข้น 1.5–2%

 

เอกสารอ้างอิง

Smith MC,Sherman DM. 1994. Goat Medicine, Lea & Febiger, Malvern, PA.

Jörg M.D. Enemark. 2008. The monitoring, prevention and treatment of sub-acute ruminal acidosis (SARA): A review. The Veterinary Journal V176: 32-43.

 


เจ้าของ: สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ซ.5 ถ.เจริญประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทร.073-335 996, 336 186
email no.: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.. ปรับปรุงครั้งสุดท้าย: 28 กพ. 2554
ผู้เขียน : นายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา
© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2554 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
ลิขสิทธิ์สงวนเฉพาะการทำซ้ำเพื่อการแสวงหาผลกำไร โปรดอ้างอิงผู้เขียนหากมีการนำไปเผยแพร่ต่อ