วิธีการตรวจการตั้งท้องโดยการล้วงตรวจผ่านทวารหนักที่ใช้ในโคกระบือ ไม่สามารถนำมาใช้ในแพะแกะได้

เนื่องจากแพะแกะมีขนาดเล็ก การตรวจการตั้งท้องในแพะแกะจึงมักต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น การใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ หรือการตรวจฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งจะมีข้อจำกัดจากราคาของเครื่องมือและความไม่คล่องตัวในการปฏิบัติในพื้นที่

การตรวจการตั้งท้องในแพะแกะโดยใช้เทคนิคสองมือ (bimanual palpation technique) คิดค้นและพัฒนาโดย Kutty และ Sudarsanan (kutty, 1999) มีความเหมาะสมสามารถให้ผลการตรวจที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตั้งท้องระยะต้นตั้งแต่ 3 เดือนลงมา รวมถึงการตรวจการทำงานอวัยวะสืบพันธุ์ได้ด้วย วิธีนี้เป็นการผสมผสานระหว่างการใช้นิ้วล้วงสัมผัสอวัยวะสืบพันธุ์เพศเมียทางทวารหนักร่วมกับการดันผนังท้องภายนอก ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงทำได้รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายน้อย เหมาะสมในการนำไปใช้ร่วมกันกับการผสมเทียมแพะ

วิธีการ

      • งดอาหารและน้ำแพะแกะก่อนตรวจ สัตว์ที่อ้วนควรอดข้ามคืน
      • ให้ผู้ช่วยจับแม่แพะให้อยู่ในท่ายืนบนโต๊ะตรวจ ผู้ตรวจอาจนั่งหรือยืน โดยมีระดับหลังแพะอยู่ในระดับใบหน้าผู้ตรวจ จะทำให้สามารถตรวจได้ถนัดไม่เมื่อยล้าหากต้องตรวจหลายตัว
      • ให้ผู้ตรวจยืนทางขวาบริเวณท้ายตัวแพะ (กรณีนี้ ผู้ตรวจถนัดขวา) สวมถุงมือตรวจโรค แล้วใช้ครีมหล่อลื่นทานิ้วชี้ซ้ายก่อนที่จะสอดเข้าทวารหนัก
      • ใช้มือขวาดันผนังช่องท้องขึ้น ปลายนิ้วทั้งห้าตรงเรียงชิดติดกัน วางปลายนิ้วสัมผัสพื้นล่างของช่องท้องตรงด้านหน้าพื้นล่างกระดูกเชิงกราน
      • ใช้มือขวาดันผนังช่องท้องต่อเนื่องกัน 3 ท่า คือ 1) ดันมือขวาไปด้านหน้าของตัวแพะ (forward) แล้ว 2) ดันมือขวาขึ้นตั้งตรง (upward) และ 3) ดันมือขวาไปทางด้านท้ายตัวแพะ (backward) ซึ่งการดันไปด้านหน้าและขึ้นบนจะเป็นการผลักอวัยวะย่อยอาหารไปด้านหน้าและแยกอวัยวะสืบพันธุ์ออก และการดันมาทางด้านท้ายจะทำให้อวัยวะสืบพันธุ์ถูกรวบอยู่ภายในมือขวา และส่งให้นิ้วชี้ซ้ายทำหน้าที่สัมผัสตรวจ
      • ใช้นิ้วชี้ซ้ายคลำ ขนาด รูปร่าง ความแข็ง และลักษณะพื้นผิวของ ช่องคลอด ปากมดลูก และปีกมดลูก
      • เปรียบเทียบผลการตรวจกับประวัติการผสมของแม่แพะ หากไม่แน่ใจควรตรวจซ้ำภายใน 2 สัปดาห์
      • ลักษณะสำคัญที่บ่งชี้ว่าแม่แพะไม่ตั้งท้องหรืออาจตั้งท้องน้อยกว่า 30 วัน ได้แก่ ความสมดุลและการขยายตัวของปีกมดลูก ซึ่งมดลูกที่ไม่ตั้งท้องควรเหนี่ยวตรงแยกปีกมดลูกและรั้งกลับได้ โดยมีขนาดที่เท่ากันทั้งซ้ายขวา นั่นคือถ้าจะบอกว่าเป็นมดลูกที่ไม่ตั้งท้อง จะต้องตรวจพบมดลูกที่ไม่ตั้งท้อง
        ข้อที่มักสรุปผิดพลาดคือ ล้วงตรวจแล้วไม่พบอะไรเลย กลับบอกว่าเป็นแพะที่ไม่ตั้งท้อง ซึ่งผิดถนัด ดังนั้นเมื่อไม่พบอะไรเลย ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยว่าแพะกำลังตั้งท้อง เนื่องจากมักจะเป็นระยะที่มดลูกจมลงในช่องท้อง ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป แต่ยังไม่ขยายใหญ่พอที่อาจพบรกหรือตัวลูก
      • ผู้ตรวจจำเป็นต้องฝึกฝนบ่อยครั้งจะมีความชำนาญและตรวจได้รวดเร็ว แม่แพะที่ใช้ตรวจในระยะเริ่มฝึก ควรเป็นแม่แพะที่มีรูปร่างปานกลางหรือผอมเล็กน้อย ผนังช่องท้องจะไม่ค่อยมีแรงต้านมือเมื่อเปรียบเทียบกับแม่แพะที่อ้วน
      • แม่แพะที่ตั้งท้องในระยะแรกเพียง 30 วัน ก็สามารถให้ผลตรวจที่ชัดเจนได้ เนื่องจากอวัยวะสืบพันธุ์แพะตั้งท้องในระยะต้น จะมีอัตราการขยายตัวมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโคกระบือ 

                   

ความเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์ในการตั้งท้องแต่ละระยะ (kutty, 1999)
ระยะตั้งท้องช่องคลอด (vagina)ปากมดลูก (cervix)มดลูก (uterus)
ไม่ท้อง หรือ น้อยกว่า 25 วัน ผนังช่องคลอดไม่มีความตึง อยู่ในช่องเชิงกราน, แข็งและไม่หนาตัว อยู่ในช่องเชิงกราน, มดลูกขนาดค่อนข้างเท่ากันซ้ายขวา, เนื้อแน่น
30 วัน ่ผนังช่องคลอดไม่มีความตึง อยู่ในช่องเชิงกราน,ไม่หนาตัว เลื่อนไปอยู่ขอบเชิงกราน, ปีกมดลูกซ้ายขวาไม่เท่ากัน, เนื้อนิ่ม และมีน้ำบรรจุ
45 วัน ่ผนังช่องคลอดยืดออกเล็กน้อย อยู่ที่ขอบกระดูกเชิงกราน, แข็งเล็กน้อนแต่ไม่หนาตัว อยู่หน้าขอบกระดูกเชิงกราน , สามารถเหนี่ยวปีกมดลูกกลับมาในช่องเชิงกรานได้ , มดลูกขยายตัวชัดเจน, เหลวนิ่ม, ไม่สามารถแยกแยะปีกมดลูกซ้ายขวาในบางราย
60 วัน ่ผนังช่องคลอดยืดออกไปข้างหน้า อยู่ที่ขอบกระดูกเชิงกราน, หนาตัวเล็กน้อยและนิ่ม อยู่หน้าขอบกระดูกเชิงกราน , สามารถเหนี่ยวปีกมดลูกกลับมาในช่องเชิงกรานได้ ในบางราย ( 20%) , มดลูกขยายตัวอย่างมาก, ความตึงแบบมีของเหลวภายใน, แยกปีกมดลูกซ้ายขวาไม่ได้
90 วัน ่ผนังช่องคลอดยืดออกไปข้างหน้า อยู่หน้าขอบกระดูกเชิงกราน, หนาตัวและนิ่มขึ้น มดลูกตกไปอยู่ในช่องท้อง, คลำได้เพียงส่วนท้ายของมดลูก, ส่วนมาก (85%) สามารถผลักตัวลูกจากภายนอกให้นิ้วชี้รู้สึกได้ , บางราย (30%) สามามารถสัมผัสแยกชั้นเนื้อเยื่อรกและมดลูกออกจากกัน
120 วัน ่ผนังช่องคลอดยืดออก และหย่อนตัวเล็กน้อย อยู่หน้าขอบกระดูกเชิงกราน, ใหญ่และนิ่มขึ้น, บางราย (20%) ยากที่จะคลำ คลำได้เพียงส่วนท้ายของมดลูก, ทุกรายสามารถผลักตัวลูกจากภายนอกให้นิ้วชี้รู้สึกได้ และเนื้อเยื่อรกและมดลูกแยกชั้นออกจากกันให้สัมผัสได้, ส่วนมาก (90%) คลำตัวลูกและก้อนรกได้จากภายนอก
145 วัน ่ผนังช่องคลอดหย่อนตัว ใหญ่และนิ่ม, ส่วนมาก (70%) ยากที่จะคลำ คลำเจอตัวลูกภายในช่องเชิงกรานได้ และส่วนมาก (85%) สามารถคลำก้อนรกได้

 

 

       

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการตั้งท้องเมื่อตรวจโดยเทคนิคสองมือ (kutty, 1999)

ส่วนของท่อสืบพันธุ์ลักษณะที่พบระยะตั้งท้อง (วัน)หมายเหตุ
30456090120145
ช่องคลอด ยืดออก (+) + + (+)  
ปากมดลูก หนาและนิ่ม (+) + + +  
อยู่พ้นช่องเชิงกราน + +  
ปีกมดลูก อยู่ในช่องท้อง + + + (+)  
ดึงกลับได้ + + (+)  
ตัวลูกเคลื่อนไหว + + ดันผนังมดลูกจากผนังท้องภายนอก,
ลูกจะเคลื่อนให้นิ้วชี้ที่อยู่ภายในลำไส้ใหญ่รู้สึกได้
รกและมดลูกแยกชั้น + + + คลำผนังท้องภายนอกพบการเลื่อนของรกระหว่างนิ้ว
คลำพบตัวลูก + + คลำได้จากผนังท้องภายนอก
หมายเหตุ (+) หมายความว่าอาจตรวจพบได้ในบางราย

 

 

เอกสารอ้างอิง

Kutty C.I. 1999. Gynecological examination and pregnancy diagnosis in small ruminants using bimanual palpation technique: a review. Theriogenology 51:1555-1564.

 

เจ้าของ: สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ซ.5 ถ.เจริญประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทร.073-335996
email no.: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it..
ปรับปรุงครั้งสุดท้าย: 10 พค. 2554
ผู้เขียน : นายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา
© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2554 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
ลิขสิทธิ์สงวนเฉพาะการทำซ้ำเพื่อการแสวงหาผลกำไร โปรดอ้างอิงผู้เขียนหากมีการนำไปเผยแพร่ต่อ