กรมปศุสัตว์ ได้เริ่มผลิตน้ำเชื้อแพะแช่แข็ง เมื่อปี พ.ศ.2530 แต่การผสมเทียมแพะยังไม่แพร่หลายเนื่องจากมีการเลี้ยงแพะหนาแน่นในบางท้องถิ่นเท่านั้น ปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงแพะมากขึ้นหากใช้การผสมเทียมจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพ่อพันธุ์ที่ดีและป้องกันโรคติดต่อในการผสมตามธรรมชาติได้อีกด้วย

อุปกรณ์

  • น้ำเชื้อแพะแช่แข็ง
  • หลอดแก้วถ่างช่องคลอด ดัดแปลงจากหลอดแก้วทดลอง (ขนาด 22x175 มม. สำหรับแม่แพะเล็ก, ขนาด 25x200 มม. สำหรับแม่แพะตัวใหญ่) ตัดปลายให้เป็นช่องเปิด และลบคมออกให้หมด ต้มฆ่าเชื้อก่อนใช้ หรือใช้อุปกรณ์ถ่างช่องคลอด (vagina speculum) ก็ได้
  • ปืนฉีดน้ำเชื้อแช่แข็งโค
  • สารหล่อลื่น (K-Y Jelly)
  • น้ำอุ่น 35°C สำหรับละลายน้ำเชื้อแช่แข็ง
  • ไฟฉาย, เทอร์โมมิเตอร์, กรรไกรตัดหลอดน้ำเชื้อ, ผ้าแห้งสะอาด


การตรวจสัด

อาการสัด แม่แพะกระดิกหางถี่ อวัยวะเพศบวมแดง มีน้ำเมือกใสไหลจากปากช่องคลอด ใช้พ่อพันธุ์ช่วยตรวจอาการสัด โดยเป็นแพะผู้โตเต็มวัยที่ผ่าตัดท่อน้ำเชื้อ หรือใช้พ่อแพะสวมเสื้อป้องกัน ให้ปล่อยพ่อแพะเข้ารวมฝูงกับตัวเมีย เช้า-เย็น ครั้งละ 10 นาที หากพ่อพันธุ์สนใจวิ่งไล่ขี่และแม่พันธุ์วิ่งหนีแสดงว่ายังไม่เข้าช่วงสัด แต่หากแม่พันธุ์ยืนนิ่งยอมให้ขี่แสดงว่าเป็นสัดอย่างเต็มที่ ให้แยกแม่พันธุ์ออกขังเพื่อผสม แล้วใช้พ่อพันธุ์ตรวจสัดแม่พันธุ์ตัวอื่นในฝูงต่อไป


>> การผสมเทียมโดยสังเกตอาการสัด

แพะมีวงจรสัดไม่แน่นอน ไม่คงที่แม้ในแพะตัวเดียวกัน ปกติแล้ววงจรสัดมีรอบ 20-21 วัน ช่วงสัดโดยเฉลี่ยราว 24-36 ชม. หรืออาจถึง 48 ชม. แต่ระยะเวลาไข่ตกจะเกิดขึ้นเมื่อใกล้หมดอาการสัด จึงไม่สามารถประมาณเวลาที่ใช้ผสมจากเวลาเริ่มเป็นสัดดังเช่นในโคได้ จึงให้ผสมเมื่อแม่แพะยืนนิ่งพร้อมรับการผสม และผสมซ้ำทุก 12 ชม.หากแม่แพะยังยืนนิ่งพร้อมรับการผสมอีก<>

>> การผสมเทียมโดยใช้ฮอร์โมนเหนี่ยวนำการเป็นสัด

    ใช้ฮอร์โมนเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่เพื่อการผสมเทียม
  1. วันแรก (d1) สอดฮอร์โมน CIDR G ในช่องคลอด
  2. วันที่ 8 (d8) ถอด CIDR G ออก แล้ว ฉีด PGF2α (cloprostenol) 1.5 cc ฉีดเข้ากล้าม , จากนั้นตรวจอาการสัด ถ้ามีการเลี้ยงตัวผู้ขังคอกติดกันจะกระตุ้นอาการสัด, เพิ่มอัตราการตกไข่, และช่วยให้สังเกตอาการสัดง่ายขึ้น.
  3. ผสมเทียม ที่ 18-24 ชม. นับหลังจากเริ่มอาการสัด. หรือ
  4. วันที่ 8 (d8) ถอด CIDR G ออก และ ไม่ต้องฉีด PGF2α แล้วให้ผสมเทียมโดยไม่ต้องตรวจอาการสัดที่ 54 ชม.หลังถอด CIDR G

เทคนิคการผสมเทียม

  1. ให้ผู้ช่วยทำการจับแม่แพะ ยกส่วนท้ายสูงขึ้นให้ขาหลังลอยจากพื้น
  2. ล้างบริเวณอวัยวะเพศด้วยสบู่และน้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง
  3. ใช้หลอดแก้วถ่างช่องคลอด หยดสารหล่อลื่น แล้วสอดหลอดแก้วเข้าในช่องคลอด ดันลึกขึ้นด้านบนเล็กน้อย ใช้ไฟฉายส่องตรวจจะเห็นปากมดลูกอยู่ปลายสุดของหลอดแก้ว
  4. ดึงหลอดแก้วกลับออกมาตรวจสอบคราบน้ำเมือก หากเป็นน้ำเมือกใสแสดงว่าอยู่ในระยะเริ่มต้นของช่วงสัด หากเป็นน้ำเมือกเป็นคราบขุ่นขาวแสดงว่าอยู่ในระยะท้ายของช่วงสัด เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเซลเยื่อบุช่องคลอดจากผลของฮอร์โมนร่างกาย
  5. นำน้ำเชื้อแช่แข็งลงแช่ในน้ำอุ่น เป็นเวลา 30 วินาที แล้วบรรจุหลอดน้ำเชื้อแช่แข็งลงในปืนฉีดน้ำเชื้อ
  6. สอดหลอดแก้วถ่างช่องคลอดเข้าในอวัยวะเพศแม่แพะ ดันหลอดแก้วจนปากมดลูกปลิ้นถ่างเปิดเล็กน้อย สอดปืนฉีดน้ำเชื้อผ่านปากมดลูกแต่ไม่ลึกลงเลยไปถึงปีกมดลูก ปล่อยน้ำเชื้อ แล้วดึงหลอดแก้วออกมาก่อน แล้วดึงปืนฉีดน้ำเชื้อออกมา พยุงก้นแม่แพะให้อยู่ในท่ายกท้ายสูง 2-3 นาที แล้วจึงปล่อยแม่แพะ
  7. ใช้พ่อพันธุ์ตรวจอาการสัดในอีก 12 ชม.ถัดมา ถ้าแม่พันธุ์ยังยืนนิ่งให้ขี่ ให้ทำการผสมซ้ำ

 

<> ผลการผสมเทียม

ติดตามผลการผสม โดยเฉลี่ยในอีก 21 วันถัดมา หากแม่แพะกลับมาแสดงอาการสัดอีกให้ผสมซ้ำ แต่หากไม่แสดงอาการสัดให้ตรวจการตั้งท้องในระยะที่เหมาะสม อัตราการผสมติดขึ้นกับ เทคนิคการผสมเทียม, คุณภาพน้ำเชื้อแช่แข็ง, การตรวจจับอาการสัด และความสมบูรณ์พันธุ์ของแม่แพะ หากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพอัตราการผสมติดโดยการผสมเทียมจะสูงถึง 50–60 %

เอกสารอ้างอิง

ประสิทธิ์ ถนอมคุณ, อุดม ช่างสุพรรณ และ บุญเสริม ชีวะอิสระกุล. 2531. พฤติกรรมการเป็นสัดและความยาววงจรสัดของแม่แพะพื้นเมืองในจังหวัดเชียงใหม่. ศูนย์วิจัยการผสมเทียมเชียงใหม่.

บรรจง จงรักษ์วัฒนา และ สมเดช โมราศิลป์. 2539. เทคนิคการผสมเทียมแพะ. จุลสารผสมเทียม. (7) ฉ.1 มกราคม-เมษายน 2539.

Jaibi P., Zegao D., and Taiyong C. 2004. Extention of artificial insemination in Boer goats. Retrived from: http://www.iga-goatworld.org/unused/publication/proceeding/abstract14.PDF.

Tibary A. 2004. Estrus Synchronization and AI: Methods for Successful and Timely Pregnancy. Washington State University, Pullman, WA, USA. Retrieved from http://wvc.omnibooksonline.com/data/papers/2009_V552.pdf.

-----------------------------------------------

เจ้าของ: สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ซ.5 ถ.เจริญประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทร.073-335996

email no.: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it..

ผู้เขียน : นายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา

© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2554 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

ลิขสิทธิ์สงวนเฉพาะการทำซ้ำเพื่อการแสวงหาผลกำไร โปรดอ้างอิงผู้เขียนหากมีการนำไปเผยแพร่ต่อ

{jcomments on}