แพะตาแดง ตาอักเสบ เจ็บตา เชิญทางนี้

แพะตาเจ็บ ตาแดง มักเป็นโรคตาอักเสบติดต่อ (pink eye, infectious keratoconjunctivitis) มีสาเหตุจากเชื้อ Mycoplasma, Chlamydia โรคนี้ทำให้หนังตาบวมแดง น้ำตาไหลและอาจกลายเป็นขี้ตาเขียวข้น ตาเป็นฝ้าขาว มีแผลหลุมที่ผิวกระจกตา ทำให้แพะเจ็บปวด มองไม่เห็น ไม่กินอาหาร หรือมองไม่เห็น

รอยโรค เริ่มจากการมีแผลหลุมที่กระจกตา โดยกระจกตาโดยรอบยังใสอยู่ หลังจากนั้นไม่กี่ ชม. จะพบฝ้าจาง ๆ ปรากฏขึ้น และกลายเป็นสีขาวขุ่น วิการอาจลดลงหายไปเลย หรืออาจเป็นเพิ่มมากขึ้น จากนั้นภายใน 48–72 ชม. รายที่เป็นรุนแรงกระจกตาจะขาวขุ่นทั้งหมด ทำให้ตาข้างนั้นบอดไปชั่วคราว หลังจากนั้นเส้นเลือดจะเริ่มแพร่เข้าบนกระจกตาเข้าหาแผลหลุม ประมาณวันละ 1 มม. การที่กระจกตาขุ่นขาวเป็นผลจากอาการบวมของกระจกตาซึ่งเป็นกระบวนการอักเสบ หรือการมีเม็ดเลือดขาวแพร่เข้ามามองเป็นสีขาวนมหรือสีเหลือง ซึ่งเป็นอาการที่จัดว่าเป็นรุนแรง โดยมากแล้วอาการจะไม่หนักไปกว่านี้ คือมีอาการกระจกตาขุ่นขาว มีแผลหลุมและเปลือกตาอักเสบ การฟื้นสภาพเกิดขึ้นได้เองทุกระยะ

เนื่องจากมีคำแนะนำในพื้นที่ หรือปรากฏบนเวบไซท์ก็ดี แนะนำให้ทำการรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ oxytetracycline ชนิดฉีดออกฤทธิ์นานหยดลงบนตา ผู้เขียนจึงทำการทดลองอย่างง่าย รักษากลุ่มแพะ 4 ตัว ที่ขังไว้รวมกัน ในระยะเวลา 18 วัน ทดลองใช้ยาปฏิชีวนะ oxytetracycline ชนิดฉีดออกฤทธิ์นาน หยดลงบนตาวันละ ครั้ง ๆ ละ 2-3 หยด บนตาซ้ายและขวาทุกตัว ไม่ว่าจะมีอาการตาเจ็บหรือไม่ จนครบ 18 วัน บันทึกภาพดวงตาทุกข้าง ในวันที่ 1, 3, 6, 8, 10, 11, 14, 16, 18 โดยให้คะแนนความรุนแรงของวิการที่พบและผลการตอบสนอง

ดังผลการบันทึกภาพดวงตา แพะทั้ง 4 ตัว และคะแนนเป็นจุดสีแดงบนภาพ (+1 เท่ากับ 1 จุด,......,+4 เท่ากับ 4จุด)

แพะตัวที่ 1 ขณะเริ่มต้นรักษา ตาซ้ายและขวามีอาการระดับ +4, การรักษามีผลลดอาการอักเสบลงได้

 

แพะตัวที่ 2 ขณะเริ่มต้นรักษา ตาซ้ายมีอาการระดับ +2, ตาขวาปกติ การรักษามีผลลดอาการอักเสบในตาซ้ายลงได้ แต่ไม่มีผลในการป้องกันตาที่ดีอีกข้าง (ขวา) ซึ่งปรากฏว่ามีฝ้าขาวขึ้นมาในภายหลังจากที่ตาซ้ายหายแล้ว

 

แพะตัวที่ 3 ขณะเริ่มต้นรักษา ตาซ้ายมีอาการระดับ +4, ตาขวาปกติ การรักษามีผลลดอาการอักเสบลงได้ แต่ไม่มีผลในการป้องกันตาที่ดีอีกข้าง (ตาขวา) ซึ่งปรากฏว่ามีอาการอักเสบขึ้นมาในภายหลังจากที่ตาซ้ายหายแล้ว คล้ายกับตัวที่ 2 และอาการจะรุนแรงน้อยกว่าตาแรก (ตาซ้าย)

 

แพะตัวที่ 4 ขณะเริ่มต้นรักษา ตาซ้ายและขวามีอาการระดับ +2, การรักษามีผลลดอาการอักเสบลงได้ แต่ตาซ้ายที่มีอาการจางหายไปกลับมีอาการกลับมาใหม่

 

โดยสรุป จะเห็นได้ว่าโรคนี้เป็นโรคระดับฝูง การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการหยุดโรค

คำแนะนำในการป้องกันรักษา

1. โรคติดต่อแพร่กระจายรวดเร็ว จึงต้องแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูงเป็นการชั่วคราว กักสัตว์ป่วยไว้ในคอก งดการนำสัตว์ใหม่เข้าฝูง การรักษาทีละตัวในฝูงไม่สามารถทำให้โรคหยุดการแพร่ระบาดได้

2. โรคนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแพะมีความเครียดที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้าย การรวมฝูงใหม่ ดังนั้นควรทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ จึงจะส่งเสริมระดับภูมิคุ้มกันโรค โดยการจัดการเรื่องโภชนาการที่เพียงพอ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมอยู่สบาย

3. oxytetracycline เป็นยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม เนื่องจากยาจะไปสะสมที่เนื้อเยื่อกระจกตาได้ดี แต่ควรให้ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ดังนี้

ภาพแสดงแพะที่หยอดตาด้วยยาฉีด มีอาการระคายเคือง แพะแสดงอาการเจ็บปวดดิ้นรนส่งเสียงร้อง

 

§การใช้ยาปฏิชีวนะ oxytetracycline ชนิดฉีดออกฤทธิ์นานหยอดตา เป็นการใช้ยานอกเหนือจากที่ฉลากกำหนด มีความไม่เหมาะสม เนื่องจากยาจะมีการระคายเคืองต่อดวงตามากดังภาพ และสัตว์ป่วยจะมีน้ำตาไหลมาก ตัวยาจะไหลออกหมด จึงควรใช้ขี้ผึ้งป้ายตาซึ่งจะทำให้ตัวยายึดเกาะกับผิวกระจกตาได้ดี และถ้าสัตว์ป่วยที่แยกออกมีจำนวนน้อย สามารถป้ายตาวันละ 3-4 ครั้งได้ก็เป็นการดี ก่อนป้ายตาควรใช้สำลีชุบน้ำเช็ดขี้ตาออกให้หมดจดด้วย

§หากใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาไม่ได้ ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ oxytetracycline ชนิดฉีดออกฤทธิ์นาน (LA 200 มก/มล) ประมาณขนาด 1 ซีซี/นน.ตัว 10 กก. ฉีดเข้ากล้าม สองครั้งห่างกัน 72 ชม.

 

เอกสารอ้างอิง

Merck Sharp & Dohme Corp. 2011. Merck Veterinary Manual : Infectious Keratoconjunctivitis: Introduction. Retrieved on : http://www.merckvetmanual.com/mvm/index.jsp?cfile=htm/bc/30500.htm&word=pinkeye. 5 March 2013.

CS MCCONNEL, L SHUM and JK HOUSE. 2007. Infectious bovine keratoconjunctivitis
antimicrobial therapy
. Aust Vet J. 85: no1 & 2. Feb 2007. Retrieved on : http://calfology.com/sites/default/files/file-attachments/ibk_treatment.pdf. 5 March 2013.

 

-----------------------------------------------------------------

เจ้าของ: สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ซ.5 ถ.เจริญประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทร.073-335996

email no.: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. .

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ : นายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา

© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2556 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

ลิขสิทธิ์สงวนเฉพาะการทำซ้ำเพื่อการแสวงหาผลกำไร โปรดอ้างอิงผู้เขียน/ผู้จัดทำหากมีการนำไปเผยแพร่ต่อ.