สารบัญ

 กรมปศุสัตว์ยุคแรก

เรื่องของกรมปศุสัตว์ยุคแรก จากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร ที่ระลึกวันเปิดที่ทำการใหม่ ๑ เมษายน ๒๕๐๐

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ขอร่วมเฉลิมฉลองวาระ ๗๐ ปี กรมปศุสัตว์ โดยนำเสนอเรื่องราวของกรมปศุสัตว์ยุคแรกจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร ที่ระลึกวันเปิดที่ทำการใหม่ ๑ เมษายน ๒๕๐๐. โดยที่หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือเก่าหายากแล้ว จึงขอคัดลอกตอนที่เกี่ยวข้องกับกรมปศุสัตว์ทั้งหมดลงเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้.

 

คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 228-231

การทำนาทำไร่ของกสิกรไทยได้อาศัยกำลังสัตว์พาหนะ มาแต่โบราณกาลตราบเท่าทุกวันนี้ ฉะนั้น การปศุสัตว์จึงได้เริ่มด้วยการสัตวแพทย์ ด้วยความมุ่งหมายที่จะช่วยป้องกันและปราบโรคระบาดที่มักเป็นแก่สัตว์พาหนะ เช่น โค กระบือ ของกสิกร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ (สมัยเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ) รัฐบาลได้ตกลงทำสัญญาจ้างมิสเตอร์เอช. เอส. เลียวนาร์ด (Mr. H.S. Leonard M.R.C.V.S.) สัตวแพทย์ชาวอังกฤษ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์คนแรกของกระทรวงเกษตราธิการเพื่อจัดวางโครงการและตั้งต้นทำการปราบโรคระบาดสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรครินเดอร์เปสต์ และใน พ.ศ. ๒๔๔๙ กระทรวงเกษตรได้จัดให้มีการสอนวิชาสัตวแพทย์แก่พนักงานของกรมเพาะปลูก แต่การสอนดำเนินอยู่เพียง ๒ ปี ก็จำต้องหยุดไป

ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ (สมัยพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นเสนาบดี) กระทรวงเกษตราธิการได้จัดจ้างมิสเตอร์ ยี.เจ ฮาร์วี (Mr. G.J. Harvey M.R.C.V.S.) เข้าเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์แทน มิสเตอร์ เลียวนาร์ด ซึ่งหมดสัญญาจ้าง ครั้งนี้การศึกษาสัตวแพทย์อย่างแท้จริงได้เริ่มขึ้น โดยอนุญาตให้เสมียนพนักงานของกรมเพาะปลูกเข้ารับการศึกษา มีการสอนทั้งภาควิชาและภาคปฏิบัติ มีการนำนักเรียนออกไปฉีดยาป้องกันโรคระบาดในท้องที่ที่เกิดโรคระบาด ซึ่งปรากฏผลดีในกาลต่อมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ ปรากฏจำนวนสัตว์พาหนะที่ล้มตายด้วยโรครินเดอร์เปสต์และแอนแทรกซ์น้อยลงไปกว่าครึ่งของจำวนเมื่อก่อนเริ่มดำเนินงานนี้ อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้ตั้งการทดลองโรคหมูขึ้นที่ตำบลปทุมวัน โดยความช่วยเหลือของสถานปาสเตอร์ (สถานเสาวภา) ทำให้รู้จักโรคหมูขึ้นหลายชนิด ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ กระทรวงเกษตราธิการได้จัดจ้าง มิสเตอร์เอช. เอส. แอล. วูดส์ (Mr. H.S.L. Woods M.R.C.V.R.) สัตวแพทย์ชาวอังกฤษเข้ามาแทนมิสเตอร์ฮาร์วี่ ที่หมดอายุสัญญาจ้างแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ในปีนี้กรมเพาะปลูกได้มี แผนกรักษาสัตว์ กองผสมสัตว์ และกองโรงเรียนสัตวแพทย์ขึ้น แต่อัตราตำแหน่งยังไม่บริบูรณ์

ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ (สมัยเจ้าพระยาพลเทพเป็นเสนาบดี) กิจการสัตวแพทย์เป็นล่ำเป็นสันขึ้น มีอาจารย์ชาวต่างประเทศสอนวิชาสัตวแพทย์โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตราธิการได้รับงบประมาณอัตราเบี้ยเลี้ยงนักเรียนสัตวแพทย์ ๑๕ อัตรา และมีตำแหน่งสัตวแพทย์ประมาณ ๓๐ ๔๐ ตำแหน่ง ในปีต่อมาก็ได้รับงบประมาณอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ กระทรวงเกษตราธิการ ได้ทำสัญญาจ้างมิสเตอร์ อาร์. พี. โยนส์ (Mr. R.P. Jones M.R.C.V.S.) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์แทน มิสเตอร์ วูดส์ ซึ่งได้หมดสัญญาจ้างแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ ในระยะนี้ทางการได้ขยายกิจการสัตวแพทย์กว้างขวางยิ่งขึ้น มีตำแหน่งสัตวแพทย์เพิ่มขึ้น การปราบโรคระบาดเป็นล่ำเป็นสันขึ้น ได้ขยายกิจการและวางระเบียบการส่งสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศ วางโครงการปราบและป้องกันโรครินเดอร์เปสต์ โดยตั้งด่านกักสัตว์ขึ้น ได้ส่งสัตวแพทย์ไปทำการปราบและป้องกันโรคระบาดทั่วราชอาณาจักร ปรากฏว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ส่งสัตวแพทย์ไปทำการป้องกันโรค โค กระบือ ที่เจ็บป่วย เกือบ ๑ แสน ๕ หมื่นตัว ได้ส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ไปประจำจังหวัดและมณฑลต่าง ๆ และได้ตั้งกองบำรุงสัตว์ กองทำวัคซีน และเซรุ่มขึ้นที่สถานีปากช่อง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา กล่าวโดยสรุปกิจการเกี่ยวกับสัตว์ในระยะนี้ ได้ปฏิบัติการแยกเป็น ๒ แขนง คือ การปราบโรคระบาดสัตว์ และการบำรุงส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ รวมขึ้นอยู่ในกรมเพาะปลูก

ใน พ.ศ. ๒๕๗๓ (สมัยเจ้าพระยาพิชัยญาติ เป็นเสนาบดี) ได้โอนกรมเพาะปลูกไปสมทบเข้ากับกรมตรวจพันธุ์รุกขชาติ ตั้งชื่อใหม่ว่า กรมตรวจกสิกรรม ขึ้นอยู่ในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ขณะนั้นกองบำรุงสัตว์มี ๒ แผนก คือ แผนกบำรุงสัตว์ และแผนกรักษาสัตว์ ขึ้นอยู่ในกรมตรวจกสิกรรม

ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วไม่ช้าได้รวมกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเป็นกระทรวงเดียวกัน เรียกว่า กระทรวงเกษตรพาณิชย์การ ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ เปลี่ยนนามกระทรวงเกษตรพาณิชย์การเป็นกระทรวงเศรษฐการ และในคราวนี้ได้เปลี่ยนนามกรมตรวจกสิกรรมเป็นกรมเกษตร ตลอดเวลานี้ งานเกี่ยวกับสัตว์คงดำเนินมาในนามกองบำรุงสัตว์จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ เมื่อได้แยกตั้งกระทรวงเกษตราธิการขึ้นตามเดิม และรวมกรมเกษตรและกรมการประมงเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมเกษตรและการประมงแล้ว กองบำรุงสัตว์ก็ได้ปรับปรุงและขยายให้กว้างขวางขึ้นเปลี่ยนชื่อเป็น กองอุตสาหกรรมสัตวพรรณ และแบ่งเป็น ๘ แผนก คือ (๑) แผนกวิชาโรคสัตว์ (๒) แผนกวัคซีนและซีรัม (๓) แผนกปราบโรค (๔) แผนกด่านกักกันสัตว์ (๕) แผนกสัตว์ใหญ่ (๖) แผนกสุกร (๗) แผนกเป็ดไก่ (๘) แผนกอาหารสัตว์

ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ กรมเกษตรและการประมง ได้ปรับปรุงส่วนราชการใหม่ ได้แยกกองอุตสาหกรรมสัตวพรรณเป็น ๒ กอง คือ กองสัตวรักษ์ และกองสัตวบาลน์ เพื่อให้กิจการสัตวแพทย์และสัตวบาลน์ต่างดำเนินไปโดยเฉพาะ กองสัตวรักษ์ มี ๔ แผนก คือ (๑) แผนกทั่วไป (๒) แผนกปราบและด่านกักสัตว์ (๓) แผนกวัคซีนและซีรัม (๔) แผนกวิชาโรคสัตว์ กองสัตวบาลน์ มี ๓ แผนก คือ (๑) แผนกสัตว์ใหญ่ (๒) แผนกสัตว์เล็ก (๓) แผนกอาหารสัตว์ มาในระยะนี้กิจการสัตวแพทย์ได้ดำเนินรุดหน้ากว้างขวางออกไปอีก

อนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลังจากได้ปราบโรคระบาดในท้องที่จังหวัดภาคใต้สงบลง ซึ่งนับว่าตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปทางใต้สุดอาณาเขตประเทศไทยเป็นท้องที่ปราศจากโรคระบาดสัตว์แล้ว ก็ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปปราบปรามโรคระบาดสัตว์ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรื่อยขึ้นมาทางภาคเหนือต่อไป เมื่อการปราบโรคระบาดทางภาคใต้สงบราบคาบลงแล้ว เป็นผลให้การเจรจาส่งสัตว์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นผลสำเร็จลง โดยรัฐบาลแห่งสหรัฐมะลายูยินยอมให้ส่งสัตว์ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และสงขลาออกไปจำหน่ายได้สองทาง คือ โดยทางเรือจากจังหวัดปัตตานี และโดยทางรถไฟจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ มีสัตวแพทย์สำเร็จการศึกษาเป็นรุ่นที่ ๑๘ มีจำนวน ๓๐๐ นาย ซึ่งมากกว่าทุกรุ่นที่แล้ว ๆ มา รวมตั้งแต่รุ่นแรกมีสัตวแพทย์สำเร็จการศึกษาประมาณ ๔๐๐ นาย