คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 332-333.
เปลี่ยนนามกรม
ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ.๒๔๙๖ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๗ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปลี่ยนนามกรม คือ กรมการปศุสัตว์ เป็นกรมปศุสัตว์ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า แต่งตั้งให้ ขุนวิจิตรพาหนการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ และ ขุนวิจารณ์คาวี ดำรงตำแหน่งนายสัตวแพทย์ใหญ่ กรมปศุสัตว์
คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 396-405.
ขุนวิจิตรพาหนการ (ใหญ่ วิจิตรพาหนการ) หัวหน้ากองสัตวรักษ์ ได้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะสืบแทนพระช่วงเกษตรศิลปการ แต่วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๒ ตลอดมาจนบัดนี้ กิจการในสมัยนี้ได้ดำเนินไปดังนี้
(๑) ได้ปฏิบัติเกี่ยวข้องและร่วมมือกับองค์การต่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การบริหารการร่วมมือกับต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ICA) และองค์การโรคสัตว์ระหว่างประเทศ (International Epizootics Organization ใช้อักษรย่อว่า OIE) มากขึ้น ได้มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจากองค์การเหล่านี้มาช่วยปฏิบัติงานและดำเนินการทดลองค้นคว้าทางวิชาการตลอดมาทุกระยะเวลา และข้าราชการกรมปศุสัตว์ก็ได้ออกไปฝึกงานและดูงานในต่างประเทศมากขึ้น อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๓-๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๗ รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศในภาคพื้นอาเซียว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ขึ้น ณ ศาลาสันติธรรม กรุงเทพฯ มีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ๑๔ ประเทศ และผู้แทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติมาร่วมประชุม รวมทั้งสิ้น ๒๔ คน
(๒) ในด้านส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ได้สั่งซื้อพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ มี โค และสุกรพันธุ์ จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อขยายพันธุ์ และได้จัดตั้ง สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งหนึ่งที่จังหวัดสกลนคร ในภาคใต้อีกแห่งหนึ่งที่ควนกุฏิ จังหวัดพัทลุง ส่วนสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว ก็ได้เสริมสร้างและขยายกิจการขึ้นอีกมากและได้จัดตั้งกองอาหารสัตว์ขึ้น เพื่อทำการทดลองค้นคว้าในเรื่องอาหารสัตว์ให้ได้ปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น งานนี้ได้รับงบประมาณของ คณะกรรมการส่งเสริมปศุสัตว์ของชาติ (ส.ป.ช.) มาช่วยอีกด้านหนึ่ง ทำให้มีสมรรถภาพและเป็นผลดียิ่งขึ้น
(๓) ในด้านการทดลองค้นคว้าและการผลิตวัคซีนและเซรัม ได้จัดตั้ง กองวัคซีนและเซรัม และกองทดลองและค้นคว้า ขึ้น เพื่อดำเนินงานนี้ให้เป็นผลดียิ่งขึ้นและสามารถผลิตวัคซีนและเซรัมให้พอกับความต้องการและมีคุณภาพสูง กรมปศุสัตว์ได้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ขึ้นใช้ได้ใหม่อีกหลายอย่าง เช่น
วัคซีนรินเดอร์เปสต์เชื้อตาย โดยใช้อาลูมิเนียมเยล
วัคซีนรินเดอร์เปสต์เชื้อเป็นจากกระต่าย
วัคซีนรินเดอร์เปสต์พิษกระต่ายผ่านสุกร
วัคซีนอหิวาต์สุกรชนิดเชื้อเป็น
วัคซีนนิวคาสเซิลเชื้อเป็นชนิด เอม.พี.
วัควีนนิวคาสเซิล ชนิดหยอดจมูก สเตรน บี.๑
วัคซีนนิวคาสเซิล ชนิดหยอดจมูก สเตรน เอฟ. และ แอนติเย่นสำหรับตรวจโรคอุจจาระขาวของไก่
ในการปราบโรคสัตว์แต่ละชนิดนั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่วัคซีน ถ้าเรามีวัคซีนไว้เพียงพอแล้ว การปราบโรคระบาดสัตว์ของเราก็จะดำเนินไปด้วยดี กรมปศุสัตว์ฯ จึงได้ดำเนินการผลิตวัคซีนขึ้นใช้เอง และปรับปรุงแก้ไข ให้มีคุณภาพดีขึ้นอยู่เสมอ เช่น วัคซีนรินเดอร์เปสต์ แต่เดิมเราผลิตจากม้ามกระบือ ต่อมาก็ได้ทำการผลิตจากกระต่าย และกระต่ายผ่านสุกรเป็นลำดับ ปรากฏว่า วัคซีนชนิดกระต่ายผ่านสุกรนี้มีประสิทธิภาพในการคุ้มโรคได้ดี ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ น้อย ทั้งปริมาณวัคซีนก็ได้มากกว่าผลิตจากม้ามกระบือ และได้ปรับปรุงคุณภาพของวัคซีนนิวคาสเซิล วัคซีนชนิดนี้แต่เดิมได้ผลิตชนิดสเตรน เอม.พี. ขึ้นใช้ทั้งชนิดสดและชนิดแห้ง ต่อมาได้ผลิตชนิดสเตรน บี. ชนิดหยอดจมูกและวัคซีนรวม (ใช้สเตรน เอม.พี. ผสมกับไวรัสฝีดาด) และได้ทดลองผลิตวัคซีนจากไวรัสสเตรน เอฟ. เป็นลำดับมาปรากฏว่า วัคซีนซึ่งผลิตจากไวรัสสเตรน เอฟ. นี้ใช้ได้ผลดีแก่ไก่ทุกวัย และคุ้มโรคได้นานเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่น วัคซีนรินเดอร์เปสต์และวัคซีนนิวคาสเซิลสเตรน เอฟ. ทั้งสองชนิดนี้เป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันมาก ในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ เช่น ฮ่องกง ฟิลลิปปินส์ ลาว ได้สั่งซื้อวัคซีนชนิดนี้ไปใช้เสมอ
อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ กรมปศุสัตว์ได้ผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกรและเซรัมอหิวาต์สุกรขึ้นสำเร็จอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศปีหนึ่ง ๆ เป็นเงินจำนวนมาก ใน พ.ศ.๒๔๙๘ กรมปศุสัตว์ได้ผลิตวัคซีนชนิดนี้ขึ้นเป็นจำนวน ๑๐๒,๖๐๔ โด๊ส และเซรัม ๑๗,๑๔๐.๕ โด๊ส สิ้นค่าใช้จ่าย ๑๔๗,๖๐๒ บาท ในจำนวนดังกล่าวนี้ ถ้าหากซื้อจากต่างประเทศแล้วจะต้องเสียเงินตราต่างประเทศคิดเป็นเงินไทย ๑,๑๙๗,๔๔๐ บาท
ได้แสดงสถิติการผลิต
(๑) วัคซีน – เซรัมที่ใช้ป้องกันโรครินเดอร์เปสต์ พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๘
(๒) วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคแอนเทรกซ์ โรคบาร์โบน กาฬโรคสุกร และโรคอหิวาต์สุกร พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๘
(๓) วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ของไก่ อหิวาต์ไก่ คอตันไก่ นิวคาสเซิลสด-แห้ง ฝีดาดไก่ ฝีดาษไก่ชนิดรวม พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๘
ไว้ในแผนภาพ ๓ ภาพต่อไปนี้
(๔) ในด้านการปราบโรคระบาดและการรักษาพยาบาลสัตว์ ได้แยกตั้ง กองควบคุมโรคระบาดขึ้น เพื่อดำเนินการปราบควบคุมและป้องกันโรคระบาดโดยเฉพาะ ส่วนกองสัตวรักษ์ ก็จะได้ดำเนินการช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลสัตว์ และแนะนำการป้องกันโรค มีการตั้งสถานีตรวจโรคสัตว์ขึ้นในจังหวัดที่เห็นว่าสำคัญและจำเป็น และเป็นศูนย์กลางของภาคต่าง ๆ คือ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี มหาสารคาม และอุบลราชธานี มีหน้าที่บริการในการตรวจรักษาพยาบาลสัตว์ให้แก่ประชาชน
ได้ทำการปราบโรครินเดอร์เปสต์ที่เกิดอยู่ในท้องที่ภาคกลาง จนสงบเรียบร้อย และขยายการปราบขึ้นไปในท้องที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนปรากฏว่าโรครินเดอร์เปสต์ในประเทศไทยได้สงบลงทั่วประเทศ แม้ในบางครั้งกลับเกิดระบาดขี้นอีก เนื่องจากติดต่อมากับสัตว์ที่ลักลอบนำเข้ามาจากชายแดน ก็ได้ปราบให้สงบลงได้โดยเร็ว ส่วนโรคอื่น ๆ เช่น โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย โรคแอนแทรกซ์ ก็ได้ทำการปราบและป้องกันอยู่โดยกวดขัน สำหรับโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งแม้จะระบาดอยู่มากแห่งแต่ก็ไม่รุนแรงได้ส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ออกควบคุมและปราบอยู่ทั่ว ๆ ไป ส่วนโรคอหิวาต์สุกรซึ่งเกิดระบาดขึ้นก็ได้ทำการปราบสงบไปแล้วมากแห่ง ยังมีอยู่บ้างไม่สู้ร้ายแรง โรคระบาดเป็ดไก่มีอยู่หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ โรคนิวคาสเซิล กรมปศุสัตว์ได้ทำการปราบและป้องกันอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ปรากฏว่า ทุเลา เบาบางลงไปมากแล้ว
(๕) การส่งสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งชะงักมาเป็นเวลานานก็ได้เริ่มต้นขึ้นใหม่ใน พ.ศ.๒๔๙๖ มีการส่ง โค กระบือ และสุกร ออกไปจำหน่ายที่ฮ่องกง จากท่ากรุงเทพฯ และสหพันธรัฐมลายูจากด่านหาดใหญ่ โดยรถไฟเป็นประจำทุกเดือน ในการส่งสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศนี้ เราได้ทำความตกลงกับประเทศที่รับซื้อสัตว์ไว้ว่า สัตว์ที่ส่งไปนั้นต้องเป็นสัตว์ที่มีร่างกายสมบูรณ์ปราศจากโรคติดต่อ ถ้าหากปรากฏว่าสัตว์ที่ส่งไปนั้นเกิดเป็นโรคขึ้น ทางประเทศผู้รับซื้อจะงดการรับสัตว์ของเราทันที ซึ่งจะเป็นการทำให้ตลาดค้าสัตว์ของเราต้องหมดไป กรมปศุสัตว์จึงจำเป็นต้องทำการตรวจตราในเรื่องนี้โดยเคร่งครัดตามระเบียบที่วางไว้ แต่ก็ได้พยายามอำนวยความสะดวกทุกประการให้แก่พ่อค้าในทุกกรณีที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของรัฐ
ใน พ.ศ.๒๔๙๘ กรมปศุสัตว์ได้ตรวจทดลองคุณภาพสัตว์เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ มีโค ๑,๓๗๕ ตัว กระบือ ๑๙,๓๑๘ ตัว สุกร ๙,๗๘๙ ตัว ทำให้ได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาคิดเป็นเงินไทยได้ ๔๒,๗๑๐,๑๓๘ บาท
สถานที่ทำการของกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ เมื่อได้แยกออกจากกรมเกษตรแล้วได้ไปเช่าวังพระองค์เจ้าคำรบ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ทำการเป็นครั้งแรก เมื่ออยู่มาปรากฏว่าสถานที่คับแคบมาก ไม่สามารถจะปลูกอาคารเพิ่มเติมแซกได้ ทำให้ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติราชการ จึงใน พ.ศ.๒๔๙๔ กระทรวงเกษตราธิการได้ดำเนินการจัดซื้อบ้านพระยาคทาธรบดีที่ถนนพญาไท มีที่ดินบริเวณกว้างขวางประมาณ ๖ ไร่เศษ พร้อมด้วยอาคารมีตัวตึกใหญ่ ๑ หลัง และบ้านขนาดย่อมอีก ๒ หลัง ให้เป็นที่ทำการกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ต่อมาได้ปรับปรุงและปลูกสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกหลายหลัง ทั้งนี้ได้เป็นสถานที่ทำการถาวรตลอดมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังมีสถานราชการที่สำคัญอยู่อีกหลายแห่ง คือ
(๑) สถานีวิทยาศาสตร์ปากช่อง ตำบลปากช่อง อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
(๒) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๑ (ท่าพระ) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
(๓) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๒ (ลำพยากลาง) อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
(๔) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๓ (ทับกวาง) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
(๕) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๔ (มหาสารคาม) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
(๖) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๕ (เชียงใหม่) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
(๗) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๖ (สกลนคร) จังหวัดสกลนคร
(๘) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๗ (ควนกุฏิ) จังหวัดพัทลุง
(๙) หน่วยส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์บางเขน ในบริเวณเกษตรกลางบางเขน อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร
(๑๐) ด่านกักสัตว์โคกคลี อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
(๑๑) ด่านกักสัตว์บางมูลนาค อำเภอบางมูลนาค จังหวัดพิจิตร
(๑๒) ด่านกักสัตว์ตำบลปะคำ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
(๑๓) ด่านกักสัตว์มวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
(๑๔) ด่านกักสัตว์เพชรบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
(๑๕) ด่านท่าออกหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
(๑๖) ด่านท่าออกปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
(๑๗) ด่านท่าออกบางคอแหลม อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร
สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้มีที่ทำการและบ้านพักเจ้าพนักงานทุกแห่ง เป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับกรมปศุสัตว์ ทั้งในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ด้านการผลิตวัคซีนและเซรัม ด้านการควบคุมกักกรองโรคสัตว์ภายในประเทศและตรวจควบคุมการส่งสัตว์ไปต่างประเทศ หน่วยที่สำคัญที่สุดคือ สถานีวิทยาศาสตร์ปากช่อง ซึ่งเป็นหน่วยผลิตและทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับการทำวัคซีนและเซรัมต่าง ๆ มีเนื้อที่หลายพันไร่ มีอาคารบ้านเรือนซึ่งเป็นตึกและเรือนไม้มากหลัง มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้เอง สถานที่นี้ได้เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ และได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมตลอดมาจนทุกวันนี้
----------------------------------------------------
เจ้าของ: สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ซ.5 ถ.เจริญประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทร.073-335996
email no.: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ผู้เขียน/ผู้จัดทำ : นายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา
© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2555 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
ลิขสิทธิ์สงวนเฉพาะการทำซ้ำเพื่อการแสวงหาผลกำไร โปรดอ้างอิงผู้เขียน/ผู้จัดทำหากมีการนำไปเผยแพร่ต่อ.
{jcomments on}