สารบัญ

 กรมปศุสัตว์ยุคแรก

เรื่องของกรมปศุสัตว์ยุคแรก จากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร ที่ระลึกวันเปิดที่ทำการใหม่ ๑ เมษายน ๒๕๐๐

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ขอร่วมเฉลิมฉลองวาระ ๗๐ ปี กรมปศุสัตว์ โดยนำเสนอเรื่องราวของกรมปศุสัตว์ยุคแรกจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร ที่ระลึกวันเปิดที่ทำการใหม่ ๑ เมษายน ๒๕๐๐. โดยที่หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือเก่าหายากแล้ว จึงขอคัดลอกตอนที่เกี่ยวข้องกับกรมปศุสัตว์ทั้งหมดลงเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้.

 

คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 228-231

การทำนาทำไร่ของกสิกรไทยได้อาศัยกำลังสัตว์พาหนะ มาแต่โบราณกาลตราบเท่าทุกวันนี้ ฉะนั้น การปศุสัตว์จึงได้เริ่มด้วยการสัตวแพทย์ ด้วยความมุ่งหมายที่จะช่วยป้องกันและปราบโรคระบาดที่มักเป็นแก่สัตว์พาหนะ เช่น โค กระบือ ของกสิกร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ (สมัยเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ) รัฐบาลได้ตกลงทำสัญญาจ้างมิสเตอร์เอช. เอส. เลียวนาร์ด (Mr. H.S. Leonard M.R.C.V.S.) สัตวแพทย์ชาวอังกฤษ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์คนแรกของกระทรวงเกษตราธิการเพื่อจัดวางโครงการและตั้งต้นทำการปราบโรคระบาดสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรครินเดอร์เปสต์ และใน พ.ศ. ๒๔๔๙ กระทรวงเกษตรได้จัดให้มีการสอนวิชาสัตวแพทย์แก่พนักงานของกรมเพาะปลูก แต่การสอนดำเนินอยู่เพียง ๒ ปี ก็จำต้องหยุดไป

ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ (สมัยพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นเสนาบดี) กระทรวงเกษตราธิการได้จัดจ้างมิสเตอร์ ยี.เจ ฮาร์วี (Mr. G.J. Harvey M.R.C.V.S.) เข้าเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์แทน มิสเตอร์ เลียวนาร์ด ซึ่งหมดสัญญาจ้าง ครั้งนี้การศึกษาสัตวแพทย์อย่างแท้จริงได้เริ่มขึ้น โดยอนุญาตให้เสมียนพนักงานของกรมเพาะปลูกเข้ารับการศึกษา มีการสอนทั้งภาควิชาและภาคปฏิบัติ มีการนำนักเรียนออกไปฉีดยาป้องกันโรคระบาดในท้องที่ที่เกิดโรคระบาด ซึ่งปรากฏผลดีในกาลต่อมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ ปรากฏจำนวนสัตว์พาหนะที่ล้มตายด้วยโรครินเดอร์เปสต์และแอนแทรกซ์น้อยลงไปกว่าครึ่งของจำวนเมื่อก่อนเริ่มดำเนินงานนี้ อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้ตั้งการทดลองโรคหมูขึ้นที่ตำบลปทุมวัน โดยความช่วยเหลือของสถานปาสเตอร์ (สถานเสาวภา) ทำให้รู้จักโรคหมูขึ้นหลายชนิด ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ กระทรวงเกษตราธิการได้จัดจ้าง มิสเตอร์เอช. เอส. แอล. วูดส์ (Mr. H.S.L. Woods M.R.C.V.R.) สัตวแพทย์ชาวอังกฤษเข้ามาแทนมิสเตอร์ฮาร์วี่ ที่หมดอายุสัญญาจ้างแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ในปีนี้กรมเพาะปลูกได้มี แผนกรักษาสัตว์ กองผสมสัตว์ และกองโรงเรียนสัตวแพทย์ขึ้น แต่อัตราตำแหน่งยังไม่บริบูรณ์

ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ (สมัยเจ้าพระยาพลเทพเป็นเสนาบดี) กิจการสัตวแพทย์เป็นล่ำเป็นสันขึ้น มีอาจารย์ชาวต่างประเทศสอนวิชาสัตวแพทย์โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตราธิการได้รับงบประมาณอัตราเบี้ยเลี้ยงนักเรียนสัตวแพทย์ ๑๕ อัตรา และมีตำแหน่งสัตวแพทย์ประมาณ ๓๐ ๔๐ ตำแหน่ง ในปีต่อมาก็ได้รับงบประมาณอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ กระทรวงเกษตราธิการ ได้ทำสัญญาจ้างมิสเตอร์ อาร์. พี. โยนส์ (Mr. R.P. Jones M.R.C.V.S.) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์แทน มิสเตอร์ วูดส์ ซึ่งได้หมดสัญญาจ้างแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ ในระยะนี้ทางการได้ขยายกิจการสัตวแพทย์กว้างขวางยิ่งขึ้น มีตำแหน่งสัตวแพทย์เพิ่มขึ้น การปราบโรคระบาดเป็นล่ำเป็นสันขึ้น ได้ขยายกิจการและวางระเบียบการส่งสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศ วางโครงการปราบและป้องกันโรครินเดอร์เปสต์ โดยตั้งด่านกักสัตว์ขึ้น ได้ส่งสัตวแพทย์ไปทำการปราบและป้องกันโรคระบาดทั่วราชอาณาจักร ปรากฏว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ส่งสัตวแพทย์ไปทำการป้องกันโรค โค กระบือ ที่เจ็บป่วย เกือบ ๑ แสน ๕ หมื่นตัว ได้ส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ไปประจำจังหวัดและมณฑลต่าง ๆ และได้ตั้งกองบำรุงสัตว์ กองทำวัคซีน และเซรุ่มขึ้นที่สถานีปากช่อง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา กล่าวโดยสรุปกิจการเกี่ยวกับสัตว์ในระยะนี้ ได้ปฏิบัติการแยกเป็น ๒ แขนง คือ การปราบโรคระบาดสัตว์ และการบำรุงส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ รวมขึ้นอยู่ในกรมเพาะปลูก

ใน พ.ศ. ๒๕๗๓ (สมัยเจ้าพระยาพิชัยญาติ เป็นเสนาบดี) ได้โอนกรมเพาะปลูกไปสมทบเข้ากับกรมตรวจพันธุ์รุกขชาติ ตั้งชื่อใหม่ว่า กรมตรวจกสิกรรม ขึ้นอยู่ในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ขณะนั้นกองบำรุงสัตว์มี ๒ แผนก คือ แผนกบำรุงสัตว์ และแผนกรักษาสัตว์ ขึ้นอยู่ในกรมตรวจกสิกรรม

ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วไม่ช้าได้รวมกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเป็นกระทรวงเดียวกัน เรียกว่า กระทรวงเกษตรพาณิชย์การ ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ เปลี่ยนนามกระทรวงเกษตรพาณิชย์การเป็นกระทรวงเศรษฐการ และในคราวนี้ได้เปลี่ยนนามกรมตรวจกสิกรรมเป็นกรมเกษตร ตลอดเวลานี้ งานเกี่ยวกับสัตว์คงดำเนินมาในนามกองบำรุงสัตว์จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ เมื่อได้แยกตั้งกระทรวงเกษตราธิการขึ้นตามเดิม และรวมกรมเกษตรและกรมการประมงเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมเกษตรและการประมงแล้ว กองบำรุงสัตว์ก็ได้ปรับปรุงและขยายให้กว้างขวางขึ้นเปลี่ยนชื่อเป็น กองอุตสาหกรรมสัตวพรรณ และแบ่งเป็น ๘ แผนก คือ (๑) แผนกวิชาโรคสัตว์ (๒) แผนกวัคซีนและซีรัม (๓) แผนกปราบโรค (๔) แผนกด่านกักกันสัตว์ (๕) แผนกสัตว์ใหญ่ (๖) แผนกสุกร (๗) แผนกเป็ดไก่ (๘) แผนกอาหารสัตว์

ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ กรมเกษตรและการประมง ได้ปรับปรุงส่วนราชการใหม่ ได้แยกกองอุตสาหกรรมสัตวพรรณเป็น ๒ กอง คือ กองสัตวรักษ์ และกองสัตวบาลน์ เพื่อให้กิจการสัตวแพทย์และสัตวบาลน์ต่างดำเนินไปโดยเฉพาะ กองสัตวรักษ์ มี ๔ แผนก คือ (๑) แผนกทั่วไป (๒) แผนกปราบและด่านกักสัตว์ (๓) แผนกวัคซีนและซีรัม (๔) แผนกวิชาโรคสัตว์ กองสัตวบาลน์ มี ๓ แผนก คือ (๑) แผนกสัตว์ใหญ่ (๒) แผนกสัตว์เล็ก (๓) แผนกอาหารสัตว์ มาในระยะนี้กิจการสัตวแพทย์ได้ดำเนินรุดหน้ากว้างขวางออกไปอีก

อนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลังจากได้ปราบโรคระบาดในท้องที่จังหวัดภาคใต้สงบลง ซึ่งนับว่าตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปทางใต้สุดอาณาเขตประเทศไทยเป็นท้องที่ปราศจากโรคระบาดสัตว์แล้ว ก็ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปปราบปรามโรคระบาดสัตว์ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรื่อยขึ้นมาทางภาคเหนือต่อไป เมื่อการปราบโรคระบาดทางภาคใต้สงบราบคาบลงแล้ว เป็นผลให้การเจรจาส่งสัตว์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นผลสำเร็จลง โดยรัฐบาลแห่งสหรัฐมะลายูยินยอมให้ส่งสัตว์ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และสงขลาออกไปจำหน่ายได้สองทาง คือ โดยทางเรือจากจังหวัดปัตตานี และโดยทางรถไฟจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ มีสัตวแพทย์สำเร็จการศึกษาเป็นรุ่นที่ ๑๘ มีจำนวน ๓๐๐ นาย ซึ่งมากกว่าทุกรุ่นที่แล้ว ๆ มา รวมตั้งแต่รุ่นแรกมีสัตวแพทย์สำเร็จการศึกษาประมาณ ๔๐๐ นาย


คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 258-291.

ตั้งกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะและตั้งอธิบดี

ในสมัยที่ พลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการนี้ ได้แยกกองสัตวบาลน์และกองสัตวรัก์ จากกรมเกษตรไปจัดตั้งเป็นกรมใหม่ขึ้นกรมหนึ่งเรียกว่า กรมปศุสัตว์และสัตวพาหนะ โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรัปบปรุงกระทรวงทบวงกรมซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พงศ.๒๔๘๕ ต่อมาในวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๕ ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ แบ่งส่วนราชการเป็น ๔ กอง คือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองสัตวบาลน์ (๓) กองสัตวรักษ์ (๔) กองสัตวศาสตร์

ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ แต่งตั้งให้ ร้อยเอก ไชย แสงชูโต (หลวงชัยอัศวรักษ์) ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นพิเศษ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖

คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 263.

เปลี่ยนอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ

ทรงพระกรุณาโปรดฯ แต่งตั้งให้ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ เรศานนท์) ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๘

คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 288-291.

เมื่อได้แยกกองสัตวบาลน์และกองรักษ์จากกรมเกษตรไปตั้งเป็นกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ขึ้นตั้งแต่วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๕ แล้ว ร้อยเอก ไชย แสงชูโต (หลวงชัยอัศวรักษ์ เมื่อได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์แล้วได้รับพระราชทานยศเป็นพันโท สังกัดกระทรวงกลาโหม) หัวหน้ากองสัตว์รักษ์เดิมได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ถึงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมนี้ ต่อมาจนถึงวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๘ จึงได้กราบถวายบังคมลาออกเนื่องจากรับราชการนาน

กิจการงานในกรมปศุสัตว์แลหะสัตว์พาหนะได้ดำเนินไปในระยะนี้มีดังนี้

(๑) ได้เปิดการอบรม สัตวแพทย์ชั้นประกาศนียบัตรขึ้นหลายรุ่น และได้มีข้อตกลงของรัฐบาลให้กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะตั้งงบประมาณเงินเดือนไว้รับสัตวแพทย์บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามจำนวนที่มีผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจการของกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ทั้งเป็นการส่งเสริมการศึกษาวิชาสัตวแพทย์ด้วย ข้อตกลงนี้ยังคงถือปฏิบัติอยู่จนบัดนี้

(๒) ได้วางแผนการปราบโรครินเดอร์เปสต์ ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์ชนิดร้ายแรงอย่างจริงจัง จนโรคนี้ลดน้อยลงไปตามลำดับ และทำให้ภาคใต้ของประเทศไทยปลอดจากโรคนี้มาจนบัดนี้

(๓) เมื่อเกิดอุทกภัย พ.ศ.๒๔๘๕ ขึ้น กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะได้จัดการช่วยเหลือราษฎรในการอพยพสัตว์จากที่น้ำท่วมไปยังที่ปลอดภัย โดยใช้เรือบรรทุกสัตว์มีเรือยนตร์ลากจูง และได้สร้างยกพื้นขึ้นสำหรับสัตว์ได้อยู่อาศัยชั่วคราว และได้จัดเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ควบคุมป้องกันโรคระบาดตลอดจนรักษาพยาบาลสัตว์ที่เจ็บป่วย และลำเลียงอาหารส่งให้สัตว์ที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ได้ช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนั้นไว้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะยังได้ช่วยกระทรวงมหาดไทยในการจัดซื้อ โค กระบือ จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาช่วยเหลือชาวนาในจังหวัดภาคกลางที่ขาดแคลนสัตว์พาหนะเนื่องจากอุทกภัยครั้งนั้นด้วย

(๔) ในระหว่างสงคราม กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะได้จัดส่งเจ้าพนักงานสัตวแพทย์เป็นจำนวนมากเข้าประจำกองทัพสนาม เพื่อร่วมกับเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ทหารทำการรักษาพยาบาลสัตว์ เกณฑ์สัตว์พาหนะและป้องกันโรคระบาดสัตว์จนสงครามสงบ

(๕) ในระหว่างสงคราม นมชนิดต่าง ๆ ขาดตลาด ทางราชการได้จัดตั้ง บริษัทอุตสาหกรรมนม จำกัด ขึ้น ให้อยู่ในความควบคุมของกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ จัดการผลิตนมเนยทุกชนิดขึ้นจำหน่ายแก่ประชาชนแทนนมต่างประเทศ แต่เมื่อสงครามสงบบริษัทนี้ก็ยุบเลิกไป และในระหว่างสงครามนั้น รำสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ขาดแคลน โรงสีต่าง ๆ ผลิตรำไม่พอที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาควบคุมการจำหน่ายรำเพื่อให้มีรำแบ่งเฉลี่ยกันใช้เลี้ยงสัตว์ตามสมควร งานควบคุมและจำหน่ายรำนี้ตกเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ฯ ซึ่งก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติกิจการนี้ไปด้วยความเรียบร้อย

(๖) ได้เริ่มทดลองผลิตวัคซีนป้องกันโรครินเดอร์เปสต์ ชนิดม้ามพิษแพะ (Goat Virus) จนถึงได้นำออกทดลองใช้ในจังหวัดภาคเหนือได้ผลดี

เมื่อ พ.ท. หลวงชัยอัศวรักษ์ ได้กราบถวายบังคมลาออกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๗ จนถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ไปเป็นอธิบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตราธิการจึงแต่งตั้งให้ พระช่วงเกษตรศิลปการ อธิบดีกรมเกษตรรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะอีกตำแหน่งหนึ่ง จนถึงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ กิจการงานในระยะนี้ได้ดำเนินไปดังนี้

(๑) ในด้านการเลี้ยงสัตว์ ได้สั่งซื้อพันธุ์สุกร เป็ด และไก่ มาจากประเทศออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก เพื่อขยายพันธุ์ให้แก่ประชาชนและหน่วยราชการต่าง ๆ

(๒) ในด้านการปราบโรค ได้จัดให้ผลิตวัคซีนและซีรัมต่าง ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เช่น วัคซีนรินเดอร์เปสต์ม้ามกระบือ วัคซีนรินเดอร์เปสต์ม้ามแพะ ทั้งได้เริ่มทดลองผลิตวัคซีนรินเดอร์เปสต์จากไข่ อนึ่ง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ พระช่วงเกษตรศิลปกร ได้เป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลไทยไปประชุม องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่กรุงวอชิงตันประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ถือโอกาสติดต่อกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาในเรื่องโรครินเดอร์เปสต์ ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ทดลองใช้วัคซีนรินเดอร์เปสต์จากไข่ พระช่วงเกษตรศิลปการจึงได้นำเชื้อวัคซีนนี้มาด้วยตนเองด้วยความพยายามเป็นอันมาก เพราะต้องใช้ Dry ice หล่อเลี้ยงเชื้อชนิดนี้มาตลอดทาง และต้องติดต่อหาน้ำแข็งชนิดนี้ ในระยะทางที่เครื่องบินผ่านตามท่าอากาศยาน ต่อมาได้ติดต่อกับ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ขอผู้เชี่ยวชาญมาควบคุมและสอนเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ให้ดำเนินการเลี้ยงเชื้อและทดลองอีกด้วย แต่ไม่ได้ผลจึงงดใช้ คงใช้แต่วัคซีนรินเดอร์เปสต์ม้ามกระบือ และวัคซีนรินเดอร์เปสต์ม้ามแพะต่อไป ส่วนวัคซีนสำหรับสุกร และเป็ด ไก่ ชนิดต่าง ๆ ก็ได้ผลิตมากขึ้นและได้ผลดีในระยะนี้ นับว่ากิจการสัตวแพทย์ได้กระเตื้องฟื้นตัวขึ้นมาก อนึ่ง รัฐบาลได้ทำสัญญาจ้าง มิสเตอร์ อาร์.พี.โยนส์. (R.P. Jones, M.R. C.V.S.) ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์กรมนี้แล้วออกไป กลับมาเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์อีกครั้งหนึ่งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๘๙

(๓) รัฐบาลได้อนุมัติเงินส่งเสริมการเกษตรให้กระทรวงเกษตราธิการจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้แบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือชาวนาที่ขาดแคลนสัตว์พาหนะเนื่องจากโรคระบาด ให้ยืมไปซื้อสัตว์พาหนะ และให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือการเลี้ยงสัตว์สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ที่ขาดแคลนเงินทุนระหว่างการเลี้ยงสัตว์จะได้กู้ยืมไปทำทุนอีกจำนวนหนึ่ง เงินทั้งสองยอดนี้ได้ใช้หมุนเวียนช่วยเหลือราษฎรเรื่อยมา จนสมัย ขุนวิจิตรพาหนการ เป็นอธิบดีก็ยังมีการช่วยเหลืออยู่


คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 332-333.

เปลี่ยนนามกรม

ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ.๒๔๙๖ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๗ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปลี่ยนนามกรม คือ กรมการปศุสัตว์ เป็นกรมปศุสัตว์ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า แต่งตั้งให้ ขุนวิจิตรพาหนการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ และ ขุนวิจารณ์คาวี ดำรงตำแหน่งนายสัตวแพทย์ใหญ่ กรมปศุสัตว์

คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 396-405.

ขุนวิจิตรพาหนการ (ใหญ่ วิจิตรพาหนการ) หัวหน้ากองสัตวรักษ์ ได้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะสืบแทนพระช่วงเกษตรศิลปการ แต่วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๒ ตลอดมาจนบัดนี้ กิจการในสมัยนี้ได้ดำเนินไปดังนี้

(๑) ได้ปฏิบัติเกี่ยวข้องและร่วมมือกับองค์การต่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การบริหารการร่วมมือกับต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ICA) และองค์การโรคสัตว์ระหว่างประเทศ (International Epizootics Organization ใช้อักษรย่อว่า OIE) มากขึ้น ได้มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจากองค์การเหล่านี้มาช่วยปฏิบัติงานและดำเนินการทดลองค้นคว้าทางวิชาการตลอดมาทุกระยะเวลา และข้าราชการกรมปศุสัตว์ก็ได้ออกไปฝึกงานและดูงานในต่างประเทศมากขึ้น อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๓-๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๗ รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศในภาคพื้นอาเซียว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ขึ้น ณ ศาลาสันติธรรม กรุงเทพฯ มีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ๑๔ ประเทศ และผู้แทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติมาร่วมประชุม รวมทั้งสิ้น ๒๔ คน

(๒) ในด้านส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ได้สั่งซื้อพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ มี โค และสุกรพันธุ์ จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อขยายพันธุ์ และได้จัดตั้ง สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งหนึ่งที่จังหวัดสกลนคร ในภาคใต้อีกแห่งหนึ่งที่ควนกุฏิ จังหวัดพัทลุง ส่วนสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว ก็ได้เสริมสร้างและขยายกิจการขึ้นอีกมากและได้จัดตั้งกองอาหารสัตว์ขึ้น เพื่อทำการทดลองค้นคว้าในเรื่องอาหารสัตว์ให้ได้ปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น งานนี้ได้รับงบประมาณของ คณะกรรมการส่งเสริมปศุสัตว์ของชาติ (ส.ป.ช.) มาช่วยอีกด้านหนึ่ง ทำให้มีสมรรถภาพและเป็นผลดียิ่งขึ้น

(๓) ในด้านการทดลองค้นคว้าและการผลิตวัคซีนและเซรัม ได้จัดตั้ง กองวัคซีนและเซรัม และกองทดลองและค้นคว้า ขึ้น เพื่อดำเนินงานนี้ให้เป็นผลดียิ่งขึ้นและสามารถผลิตวัคซีนและเซรัมให้พอกับความต้องการและมีคุณภาพสูง กรมปศุสัตว์ได้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ขึ้นใช้ได้ใหม่อีกหลายอย่าง เช่น

วัคซีนรินเดอร์เปสต์เชื้อตาย โดยใช้อาลูมิเนียมเยล

วัคซีนรินเดอร์เปสต์เชื้อเป็นจากกระต่าย

วัคซีนรินเดอร์เปสต์พิษกระต่ายผ่านสุกร

วัคซีนอหิวาต์สุกรชนิดเชื้อเป็น

วัคซีนนิวคาสเซิลเชื้อเป็นชนิด เอม.พี.

วัควีนนิวคาสเซิล ชนิดหยอดจมูก สเตรน บี.๑

วัคซีนนิวคาสเซิล ชนิดหยอดจมูก สเตรน เอฟ. และ แอนติเย่นสำหรับตรวจโรคอุจจาระขาวของไก่

ในการปราบโรคสัตว์แต่ละชนิดนั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่วัคซีน ถ้าเรามีวัคซีนไว้เพียงพอแล้ว การปราบโรคระบาดสัตว์ของเราก็จะดำเนินไปด้วยดี กรมปศุสัตว์ฯ จึงได้ดำเนินการผลิตวัคซีนขึ้นใช้เอง และปรับปรุงแก้ไข ให้มีคุณภาพดีขึ้นอยู่เสมอ เช่น วัคซีนรินเดอร์เปสต์ แต่เดิมเราผลิตจากม้ามกระบือ ต่อมาก็ได้ทำการผลิตจากกระต่าย และกระต่ายผ่านสุกรเป็นลำดับ ปรากฏว่า วัคซีนชนิดกระต่ายผ่านสุกรนี้มีประสิทธิภาพในการคุ้มโรคได้ดี ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ น้อย ทั้งปริมาณวัคซีนก็ได้มากกว่าผลิตจากม้ามกระบือ และได้ปรับปรุงคุณภาพของวัคซีนนิวคาสเซิล วัคซีนชนิดนี้แต่เดิมได้ผลิตชนิดสเตรน เอม.พี. ขึ้นใช้ทั้งชนิดสดและชนิดแห้ง ต่อมาได้ผลิตชนิดสเตรน บี. ชนิดหยอดจมูกและวัคซีนรวม (ใช้สเตรน เอม.พี. ผสมกับไวรัสฝีดาด) และได้ทดลองผลิตวัคซีนจากไวรัสสเตรน เอฟ. เป็นลำดับมาปรากฏว่า วัคซีนซึ่งผลิตจากไวรัสสเตรน เอฟ. นี้ใช้ได้ผลดีแก่ไก่ทุกวัย และคุ้มโรคได้นานเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่น วัคซีนรินเดอร์เปสต์และวัคซีนนิวคาสเซิลสเตรน เอฟ. ทั้งสองชนิดนี้เป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันมาก ในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ เช่น ฮ่องกง ฟิลลิปปินส์ ลาว ได้สั่งซื้อวัคซีนชนิดนี้ไปใช้เสมอ

อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ กรมปศุสัตว์ได้ผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกรและเซรัมอหิวาต์สุกรขึ้นสำเร็จอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศปีหนึ่ง ๆ เป็นเงินจำนวนมาก ใน พ.ศ.๒๔๙๘ กรมปศุสัตว์ได้ผลิตวัคซีนชนิดนี้ขึ้นเป็นจำนวน ๑๐๒,๖๐๔ โด๊ส และเซรัม ๑๗,๑๔๐.๕ โด๊ส สิ้นค่าใช้จ่าย ๑๔๗,๖๐๒ บาท ในจำนวนดังกล่าวนี้ ถ้าหากซื้อจากต่างประเทศแล้วจะต้องเสียเงินตราต่างประเทศคิดเป็นเงินไทย ๑,๑๙๗,๔๔๐ บาท

ได้แสดงสถิติการผลิต

(๑) วัคซีน – เซรัมที่ใช้ป้องกันโรครินเดอร์เปสต์ พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๘

(๒) วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคแอนเทรกซ์ โรคบาร์โบน กาฬโรคสุกร และโรคอหิวาต์สุกร พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๘

(๓) วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ของไก่ อหิวาต์ไก่ คอตันไก่ นิวคาสเซิลสด-แห้ง ฝีดาดไก่ ฝีดาษไก่ชนิดรวม พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๘

ไว้ในแผนภาพ ๓ ภาพต่อไปนี้

(๔) ในด้านการปราบโรคระบาดและการรักษาพยาบาลสัตว์ ได้แยกตั้ง กองควบคุมโรคระบาดขึ้น เพื่อดำเนินการปราบควบคุมและป้องกันโรคระบาดโดยเฉพาะ ส่วนกองสัตวรักษ์ ก็จะได้ดำเนินการช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลสัตว์ และแนะนำการป้องกันโรค มีการตั้งสถานีตรวจโรคสัตว์ขึ้นในจังหวัดที่เห็นว่าสำคัญและจำเป็น และเป็นศูนย์กลางของภาคต่าง ๆ คือ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี มหาสารคาม และอุบลราชธานี มีหน้าที่บริการในการตรวจรักษาพยาบาลสัตว์ให้แก่ประชาชน

ได้ทำการปราบโรครินเดอร์เปสต์ที่เกิดอยู่ในท้องที่ภาคกลาง จนสงบเรียบร้อย และขยายการปราบขึ้นไปในท้องที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนปรากฏว่าโรครินเดอร์เปสต์ในประเทศไทยได้สงบลงทั่วประเทศ แม้ในบางครั้งกลับเกิดระบาดขี้นอีก เนื่องจากติดต่อมากับสัตว์ที่ลักลอบนำเข้ามาจากชายแดน ก็ได้ปราบให้สงบลงได้โดยเร็ว ส่วนโรคอื่น ๆ เช่น โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย โรคแอนแทรกซ์ ก็ได้ทำการปราบและป้องกันอยู่โดยกวดขัน สำหรับโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งแม้จะระบาดอยู่มากแห่งแต่ก็ไม่รุนแรงได้ส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ออกควบคุมและปราบอยู่ทั่ว ๆ ไป ส่วนโรคอหิวาต์สุกรซึ่งเกิดระบาดขึ้นก็ได้ทำการปราบสงบไปแล้วมากแห่ง ยังมีอยู่บ้างไม่สู้ร้ายแรง โรคระบาดเป็ดไก่มีอยู่หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ โรคนิวคาสเซิล กรมปศุสัตว์ได้ทำการปราบและป้องกันอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ปรากฏว่า ทุเลา เบาบางลงไปมากแล้ว

(๕) การส่งสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งชะงักมาเป็นเวลานานก็ได้เริ่มต้นขึ้นใหม่ใน พ.ศ.๒๔๙๖ มีการส่ง โค กระบือ และสุกร ออกไปจำหน่ายที่ฮ่องกง จากท่ากรุงเทพฯ และสหพันธรัฐมลายูจากด่านหาดใหญ่ โดยรถไฟเป็นประจำทุกเดือน ในการส่งสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศนี้ เราได้ทำความตกลงกับประเทศที่รับซื้อสัตว์ไว้ว่า สัตว์ที่ส่งไปนั้นต้องเป็นสัตว์ที่มีร่างกายสมบูรณ์ปราศจากโรคติดต่อ ถ้าหากปรากฏว่าสัตว์ที่ส่งไปนั้นเกิดเป็นโรคขึ้น ทางประเทศผู้รับซื้อจะงดการรับสัตว์ของเราทันที ซึ่งจะเป็นการทำให้ตลาดค้าสัตว์ของเราต้องหมดไป กรมปศุสัตว์จึงจำเป็นต้องทำการตรวจตราในเรื่องนี้โดยเคร่งครัดตามระเบียบที่วางไว้ แต่ก็ได้พยายามอำนวยความสะดวกทุกประการให้แก่พ่อค้าในทุกกรณีที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของรัฐ

ใน พ.ศ.๒๔๙๘ กรมปศุสัตว์ได้ตรวจทดลองคุณภาพสัตว์เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ มีโค ๑,๓๗๕ ตัว กระบือ ๑๙,๓๑๘ ตัว สุกร ๙,๗๘๙ ตัว ทำให้ได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาคิดเป็นเงินไทยได้ ๔๒,๗๑๐,๑๓๘ บาท

สถานที่ทำการของกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ เมื่อได้แยกออกจากกรมเกษตรแล้วได้ไปเช่าวังพระองค์เจ้าคำรบ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ทำการเป็นครั้งแรก เมื่ออยู่มาปรากฏว่าสถานที่คับแคบมาก ไม่สามารถจะปลูกอาคารเพิ่มเติมแซกได้ ทำให้ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติราชการ จึงใน พ.ศ.๒๔๙๔ กระทรวงเกษตราธิการได้ดำเนินการจัดซื้อบ้านพระยาคทาธรบดีที่ถนนพญาไท มีที่ดินบริเวณกว้างขวางประมาณ ๖ ไร่เศษ พร้อมด้วยอาคารมีตัวตึกใหญ่ ๑ หลัง และบ้านขนาดย่อมอีก ๒ หลัง ให้เป็นที่ทำการกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ต่อมาได้ปรับปรุงและปลูกสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกหลายหลัง ทั้งนี้ได้เป็นสถานที่ทำการถาวรตลอดมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังมีสถานราชการที่สำคัญอยู่อีกหลายแห่ง คือ

(๑) สถานีวิทยาศาสตร์ปากช่อง ตำบลปากช่อง อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

(๒) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๑ (ท่าพระ) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

(๓) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๒ (ลำพยากลาง) อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

(๔) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๓ (ทับกวาง) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

(๕) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๔ (มหาสารคาม) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

(๖) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๕ (เชียงใหม่) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

(๗) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๖ (สกลนคร) จังหวัดสกลนคร

(๘) สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ ๗ (ควนกุฏิ) จังหวัดพัทลุง

(๙) หน่วยส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์บางเขน ในบริเวณเกษตรกลางบางเขน อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร

(๑๐) ด่านกักสัตว์โคกคลี อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี

(๑๑) ด่านกักสัตว์บางมูลนาค อำเภอบางมูลนาค จังหวัดพิจิตร

(๑๒) ด่านกักสัตว์ตำบลปะคำ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

(๑๓) ด่านกักสัตว์มวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

(๑๔) ด่านกักสัตว์เพชรบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

(๑๕) ด่านท่าออกหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

(๑๖) ด่านท่าออกปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

(๑๗) ด่านท่าออกบางคอแหลม อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร

สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้มีที่ทำการและบ้านพักเจ้าพนักงานทุกแห่ง เป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับกรมปศุสัตว์ ทั้งในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ด้านการผลิตวัคซีนและเซรัม ด้านการควบคุมกักกรองโรคสัตว์ภายในประเทศและตรวจควบคุมการส่งสัตว์ไปต่างประเทศ หน่วยที่สำคัญที่สุดคือ สถานีวิทยาศาสตร์ปากช่อง ซึ่งเป็นหน่วยผลิตและทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับการทำวัคซีนและเซรัมต่าง ๆ มีเนื้อที่หลายพันไร่ มีอาคารบ้านเรือนซึ่งเป็นตึกและเรือนไม้มากหลัง มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้เอง สถานที่นี้ได้เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ และได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมตลอดมาจนทุกวันนี้

----------------------------------------------------

เจ้าของ: สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ซ.5 ถ.เจริญประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทร.073-335996

email no.: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ : นายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา

© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2555 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

ลิขสิทธิ์สงวนเฉพาะการทำซ้ำเพื่อการแสวงหาผลกำไร โปรดอ้างอิงผู้เขียน/ผู้จัดทำหากมีการนำไปเผยแพร่ต่อ.

{jcomments on}