คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 258-291.
ตั้งกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะและตั้งอธิบดี
ในสมัยที่ พลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการนี้ ได้แยกกองสัตวบาลน์และกองสัตวรัก์ จากกรมเกษตรไปจัดตั้งเป็นกรมใหม่ขึ้นกรมหนึ่งเรียกว่า กรมปศุสัตว์และสัตวพาหนะ โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรัปบปรุงกระทรวงทบวงกรมซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พงศ.๒๔๘๕ ต่อมาในวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๕ ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ แบ่งส่วนราชการเป็น ๔ กอง คือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองสัตวบาลน์ (๓) กองสัตวรักษ์ (๔) กองสัตวศาสตร์
ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ แต่งตั้งให้ ร้อยเอก ไชย แสงชูโต (หลวงชัยอัศวรักษ์) ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นพิเศษ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖
คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 263.
เปลี่ยนอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ
ทรงพระกรุณาโปรดฯ แต่งตั้งให้ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ เรศานนท์) ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๘
คัดจากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร, หนังสือที่ระลึกในงานเปิดตึกที่ทำการกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500. หน้า 288-291.
เมื่อได้แยกกองสัตวบาลน์และกองรักษ์จากกรมเกษตรไปตั้งเป็นกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ขึ้นตั้งแต่วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๕ แล้ว ร้อยเอก ไชย แสงชูโต (หลวงชัยอัศวรักษ์ เมื่อได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์แล้วได้รับพระราชทานยศเป็นพันโท สังกัดกระทรวงกลาโหม) หัวหน้ากองสัตว์รักษ์เดิมได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ถึงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมนี้ ต่อมาจนถึงวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๘ จึงได้กราบถวายบังคมลาออกเนื่องจากรับราชการนาน
กิจการงานในกรมปศุสัตว์แลหะสัตว์พาหนะได้ดำเนินไปในระยะนี้มีดังนี้
(๑) ได้เปิดการอบรม สัตวแพทย์ชั้นประกาศนียบัตรขึ้นหลายรุ่น และได้มีข้อตกลงของรัฐบาลให้กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะตั้งงบประมาณเงินเดือนไว้รับสัตวแพทย์บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามจำนวนที่มีผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจการของกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ทั้งเป็นการส่งเสริมการศึกษาวิชาสัตวแพทย์ด้วย ข้อตกลงนี้ยังคงถือปฏิบัติอยู่จนบัดนี้
(๒) ได้วางแผนการปราบโรครินเดอร์เปสต์ ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์ชนิดร้ายแรงอย่างจริงจัง จนโรคนี้ลดน้อยลงไปตามลำดับ และทำให้ภาคใต้ของประเทศไทยปลอดจากโรคนี้มาจนบัดนี้
(๓) เมื่อเกิดอุทกภัย พ.ศ.๒๔๘๕ ขึ้น กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะได้จัดการช่วยเหลือราษฎรในการอพยพสัตว์จากที่น้ำท่วมไปยังที่ปลอดภัย โดยใช้เรือบรรทุกสัตว์มีเรือยนตร์ลากจูง และได้สร้างยกพื้นขึ้นสำหรับสัตว์ได้อยู่อาศัยชั่วคราว และได้จัดเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ควบคุมป้องกันโรคระบาดตลอดจนรักษาพยาบาลสัตว์ที่เจ็บป่วย และลำเลียงอาหารส่งให้สัตว์ที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ได้ช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนั้นไว้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะยังได้ช่วยกระทรวงมหาดไทยในการจัดซื้อ โค กระบือ จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาช่วยเหลือชาวนาในจังหวัดภาคกลางที่ขาดแคลนสัตว์พาหนะเนื่องจากอุทกภัยครั้งนั้นด้วย
(๔) ในระหว่างสงคราม กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะได้จัดส่งเจ้าพนักงานสัตวแพทย์เป็นจำนวนมากเข้าประจำกองทัพสนาม เพื่อร่วมกับเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ทหารทำการรักษาพยาบาลสัตว์ เกณฑ์สัตว์พาหนะและป้องกันโรคระบาดสัตว์จนสงครามสงบ
(๕) ในระหว่างสงคราม นมชนิดต่าง ๆ ขาดตลาด ทางราชการได้จัดตั้ง บริษัทอุตสาหกรรมนม จำกัด ขึ้น ให้อยู่ในความควบคุมของกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ จัดการผลิตนมเนยทุกชนิดขึ้นจำหน่ายแก่ประชาชนแทนนมต่างประเทศ แต่เมื่อสงครามสงบบริษัทนี้ก็ยุบเลิกไป และในระหว่างสงครามนั้น รำสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ขาดแคลน โรงสีต่าง ๆ ผลิตรำไม่พอที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาควบคุมการจำหน่ายรำเพื่อให้มีรำแบ่งเฉลี่ยกันใช้เลี้ยงสัตว์ตามสมควร งานควบคุมและจำหน่ายรำนี้ตกเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ฯ ซึ่งก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติกิจการนี้ไปด้วยความเรียบร้อย
(๖) ได้เริ่มทดลองผลิตวัคซีนป้องกันโรครินเดอร์เปสต์ ชนิดม้ามพิษแพะ (Goat Virus) จนถึงได้นำออกทดลองใช้ในจังหวัดภาคเหนือได้ผลดี
เมื่อ พ.ท. หลวงชัยอัศวรักษ์ ได้กราบถวายบังคมลาออกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๗ จนถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ไปเป็นอธิบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตราธิการจึงแต่งตั้งให้ พระช่วงเกษตรศิลปการ อธิบดีกรมเกษตรรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะอีกตำแหน่งหนึ่ง จนถึงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ กิจการงานในระยะนี้ได้ดำเนินไปดังนี้
(๑) ในด้านการเลี้ยงสัตว์ ได้สั่งซื้อพันธุ์สุกร เป็ด และไก่ มาจากประเทศออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก เพื่อขยายพันธุ์ให้แก่ประชาชนและหน่วยราชการต่าง ๆ
(๒) ในด้านการปราบโรค ได้จัดให้ผลิตวัคซีนและซีรัมต่าง ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เช่น วัคซีนรินเดอร์เปสต์ม้ามกระบือ วัคซีนรินเดอร์เปสต์ม้ามแพะ ทั้งได้เริ่มทดลองผลิตวัคซีนรินเดอร์เปสต์จากไข่ อนึ่ง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ พระช่วงเกษตรศิลปกร ได้เป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลไทยไปประชุม องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่กรุงวอชิงตันประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ถือโอกาสติดต่อกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาในเรื่องโรครินเดอร์เปสต์ ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ทดลองใช้วัคซีนรินเดอร์เปสต์จากไข่ พระช่วงเกษตรศิลปการจึงได้นำเชื้อวัคซีนนี้มาด้วยตนเองด้วยความพยายามเป็นอันมาก เพราะต้องใช้ Dry ice หล่อเลี้ยงเชื้อชนิดนี้มาตลอดทาง และต้องติดต่อหาน้ำแข็งชนิดนี้ ในระยะทางที่เครื่องบินผ่านตามท่าอากาศยาน ต่อมาได้ติดต่อกับ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ขอผู้เชี่ยวชาญมาควบคุมและสอนเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ให้ดำเนินการเลี้ยงเชื้อและทดลองอีกด้วย แต่ไม่ได้ผลจึงงดใช้ คงใช้แต่วัคซีนรินเดอร์เปสต์ม้ามกระบือ และวัคซีนรินเดอร์เปสต์ม้ามแพะต่อไป ส่วนวัคซีนสำหรับสุกร และเป็ด ไก่ ชนิดต่าง ๆ ก็ได้ผลิตมากขึ้นและได้ผลดีในระยะนี้ นับว่ากิจการสัตวแพทย์ได้กระเตื้องฟื้นตัวขึ้นมาก อนึ่ง รัฐบาลได้ทำสัญญาจ้าง มิสเตอร์ อาร์.พี.โยนส์. (R.P. Jones, M.R. C.V.S.) ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์กรมนี้แล้วออกไป กลับมาเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์อีกครั้งหนึ่งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๘๙
(๓) รัฐบาลได้อนุมัติเงินส่งเสริมการเกษตรให้กระทรวงเกษตราธิการจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้แบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือชาวนาที่ขาดแคลนสัตว์พาหนะเนื่องจากโรคระบาด ให้ยืมไปซื้อสัตว์พาหนะ และให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือการเลี้ยงสัตว์สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ที่ขาดแคลนเงินทุนระหว่างการเลี้ยงสัตว์จะได้กู้ยืมไปทำทุนอีกจำนวนหนึ่ง เงินทั้งสองยอดนี้ได้ใช้หมุนเวียนช่วยเหลือราษฎรเรื่อยมา จนสมัย ขุนวิจิตรพาหนการ เป็นอธิบดีก็ยังมีการช่วยเหลืออยู่